คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 943/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 89

คำเบิกความของจำเลยและทนายจำเลยถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากทนายโจทก์ จำเลยได้นำหนังสือไปปรึกษากับทนายจำเลย ทนายจำเลยจึงติดต่อกับทนายโจทก์เพื่อเจรจาเรื่องเช็คจำนวนเงิน 200,000 บาท โดยทนายโจทก์ยอมลดค่าเสียหายให้เหลือ 30,000 บาทนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์ในเรื่องนี้ไว้แต่เป็นเพราะโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานระบุอ้าง น. ทนายโจทก์ไว้ แต่โจทก์ไม่ประสงค์จะสืบ จำเลยจึงไม่มีโอกาสถามค้านไว้ได้ ส่วนตัวโจทก์เองไม่ได้เป็นพยานผู้รู้เห็นหรือร่วมเจรจา จำเลยจึงไม่ได้ถามค้านไว้ คำเบิกความของจำเลยและทนายจำเลยจึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 852

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 852/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 577 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. 2 (นายจ้าง

เดิมโจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาบริษัท พ.ผู้เช่าเข้ามาเช่าและดำเนินกิจการต่อจากจำเลย การที่จำเลยได้โอนกิจการของตนไปให้บริษัท พ.เช่าดำเนินการต่อ และบริษัท พ.ได้รับโจทก์ทั้งหมดไปทำงานให้แก่บริษัท พ.โดยโจทก์ทั้งหมดมิได้ใช้สิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมโอนไปทำงานกับบริษัท พ. ตามที่ ป.พ.พ.มาตรา 577 ให้สิทธิไว้ อีกทั้งเมื่อบริษัท พ.ค้างชำระค่าจ้าง โจทก์ทั้งหมดก็ฟ้องคดีเรียกค่าจ้างค้างชำระเอาแก่บริษัท พ. กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งหมดได้ยอมรับการเปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยไปเป็นบริษัท พ.และยินยอมโอนไปทำงานให้แก่บริษัท พ.แล้ว บริษัท พ.จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหมด ตามคำนิยามของคำว่า "นายจ้าง"และ "ลูกจ้าง" ในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 โจทก์ทั้งหมดจึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 844

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 844/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 994 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249

เช็คขีดคร่อมจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 994 วรรคหนึ่ง ดังนี้ เมื่อเช็คพิพาทมีลักษณะพิเศษเช่นนั้น ธนาคารจำเลยที่ 6 ผู้รับเช็คมาเรียกเก็บเงินก็จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายโดยเคร่งครัด กล่าวคือจะต้องเรียกเก็บเงินตามเช็คเพื่อเข้าบัญชีเงินฝากของบริษัท ท. หรือบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้รับเงินตามเช็คเท่านั้น จะเรียกเก็บเงินให้แก่ธนาคารจำเลยที่ 6 เพื่อเข้าบัญชีบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทอื่นที่มิใช่ผู้รับเงินตามเช็คนั้นไม่ได้เพราะเป็นการปฏิบัติที่ผิดทั้งกฎหมายและระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 6 จะอ้างเพียงว่ากรรมการบริหารของบริษัทจำเลยที่ 1 บริษัท ท. และบริษัท อ. เป็นกรรมการบริหารชุดเดียวกันจึงอนุโลมให้หาได้ไม่ ดังนั้น จึงต้องถือว่าธนาคารจำเลยที่ 6 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น

แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้บรรยายฟ้องโดยใช้ข้อความว่าการที่ธนาคารจำเลยที่ 6 เรียกเก็บเงินตามเช็คเข้าบัญชีของบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทอื่น โดยไม่เรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของบริษัท ท. หรือบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้รับเงินตามที่ระบุในเช็คดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง แต่การที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าธนาคารจำเลยที่ 6 บังอาจเรียกเก็บเงินตามเช็คขีดคร่อมซึ่งขีดฆ่าคำว่า "ผู้ถือ" ออกและกำหนดห้ามโอนเปลี่ยนมือไว้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 จนได้รับเงินไป การกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ย่อมแปลความหมายได้ว่าการกระทำของธนาคารจำเลยที่ 6 เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1 ผู้สั่งจ่ายเช็คเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ของโจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามเช็คดังกล่าวและโจทก์ที่ 1 ต้องเสียหายเพราะโจทก์ที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ที่ 1 อันเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ต้องเสียหายแก่ทรัพย์สินแล้ว ข้อที่โจทก์ทั้งสองยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาว่าการกระทำดังกล่าวของธนาคารจำเลยที่ 6 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 843

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 843/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 177 วรรคสาม

ฟ้องแย้งนอกจากจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้แล้วต้องเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมอย่างไร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ด้วย ซึ่งจำเลยให้การว่าเอกสารตามฟ้องแย้งเป็นเอกสารปลอมที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้แล้ว โจทก์หรือตัวแทนโจทก์ร่วมกันกรอกข้อความโดยจำเลยไม่ได้ให้ความยินยอม หากคดีฟังได้ดังที่จำเลยให้การไว้ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องของโจทก์ย่อมรับฟังไม่ได้ ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องเอกสารดังกล่าวก็ไม่อาจนำไปใช้อ้างเป็นประโยชน์ต่อโจทก์หรือบุคคลภายนอกได้อยู่แล้ว หาจำเป็นที่จำเลยต้องฟ้องแย้งเพื่อให้โจทก์คืนหรือทำลายเอกสารดังกล่าวไม่ ที่จำเลยอ้างว่าเมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง จำเลยไม่อาจเรียกเอกสารดังกล่าวคืนจากบุคคลภายนอกได้ จึงเกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่แล้ว ชอบที่จะฟ้องแย้งได้นั้น การที่จำเลยจะเรียกเอกสารดังกล่าวคืนจากบุคคลภายนอกได้หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับข้อโต้แย้งอันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ในคดีนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 381 วรรคหนึ่ง, 383 วรรคหนึ่ง

แม้มีเหตุจะเป็นอุปสรรคในการทำการก่อสร้างของโจทก์อยู่บ้าง แต่โจทก์ยังสามารถทำการก่อสร้างในส่วนอื่นได้ และต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญากันโดยจำเลยผ่อนผันยืดเวลาทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จออกไปอีก และกำหนดไว้ในข้อ 3 ว่าความรับผิดชอบส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จเดิมเป็นต้นไป โจทก์ยอมให้จำเลยปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น จำเลยจึงมีสิทธิปรับโจทก์ได้ตามสัญญา

โจทก์ผิดสัญญาก่อสร้างอาคารโดยส่งมอบให้จำเลยล่าช้ากว่ากำหนดจำเลยจึงปรับโจทก์ตามสัญญา โดยหักเงินค่าปรับไว้จากค่าจ้าง เมื่อศาลพิพากษาลดค่าปรับลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ให้จำเลยคืนค่าปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเงินค่าปรับที่ได้รับคืนนั้น เพราะการที่จำเลยหักค่าปรับไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 40, 47, 56, 60, 86, 104

จำเลยเคยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ออกหมายเรียกพยานปาก อ. และ น. กรรมการของโจทก์มาครั้งหนึ่งแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยแถลงศาลก่อนว่า พยานที่ขอออกหมายเรียกที่ประสงค์จะนำสืบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีอย่างไรแล้วจะพิจารณาสั่งต่อไป แต่จำเลยก็ไม่ได้แถลงถึงเหตุที่ต้องขอหมายเรียกพยานดังกล่าวให้ศาลชั้นต้นทราบ จนถึงวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก จำเลยขอเลื่อนคดีอ้างเหตุที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียก อ. และ น. มาเป็นพยานจำเลย และจำเลยไม่ได้เตรียมพยานอื่นมา ซึ่งศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีโดยกำชับว่าให้จำเลยเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบตามนัด เนื่องจากศาลเลื่อนคดีไปเป็นระยะเวลานานเกือบ 3 เดือน หากในวันนัดไม่สามารถนำพยานอื่นมาสืบได้ก็ให้นำตัวจำเลยเข้าสืบก่อน แต่ครั้นถึงกำหนดจำเลยก็ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกอ้างเหตุว่าประสงค์จะนำ อ. เข้าสืบเป็นพยานจำเลยปากแรกเกี่ยวกับประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง แต่เกิดเหตุขัดข้องในด้านธุรการศาล เจ้าหน้าที่ศาลไม่สามารถนำหมายเรียกพยานบุคคลดังกล่าวมาให้ทนายจำเลยได้ และไม่มีพยานอื่นของจำเลยมาศาล พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการประวิงคดี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์จะให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิชักช้า การเลื่อนคดีก็อนุญาตให้เลื่อนได้เพียงครั้งเดียว คู่ความที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีไปแล้ว จะขอเลื่อนคดีอีกได้ก็ต่อเมื่อเข้าข้อยกเว้น คือมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ เมื่อการขอเลื่อนคดี ตามคำร้อง และคำแถลงของทนายจำเลยต่อศาลชั้นต้นไม่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลชั้นต้นว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม พฤติการณ์จึงเป็นการประวิงคดี ชอบที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานจำเลย โดยไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไป และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณากำหนดนัดฟังคำพิพากษา จึงมีความหมายในตัวว่ากำหนดนัดสืบพยานจำเลยที่เหลือล่วงหน้าเป็นอันยกเลิกไปในตัว ศาลชั้นต้นหาจำต้องสั่งยกเลิกวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองอีกไม่ กรณีมิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ได้

จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า อ. ไม่ใช่กรรมการผู้มีสิทธิมอบอำนาจกระทำการแทนโจทก์ หรือลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม อันมีเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจนั้นไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริง ที่จะนำเข้าสู่ประเด็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ และข้อต่อสู้ของจำเลยเกี่ยวกับใบมอบอำนาจในเรื่องวันที่ สถานที่ ที่ทำใบมอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจผู้รับมอบอำนาจ และพยานร่วมกันลงชื่อตามวันและสถานที่ตามใบมอบอำนาจหรือไม่ ยังไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ใบมอบอำนาจไม่สมบูรณ์และไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่จำเลยขอหมายเรียก อ. มาเบิกความเป็นพยานจำเลยในเรื่องอำนาจฟ้องเป็นพยานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดี จึงงดสืบพยานดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 แล้ว

คำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยไม่ได้กล่าวถึงเหตุที่จำเลยมาศาลไม่ได้ในวันนัดสืบพยานจำเลย เมื่อศาลชั้นต้นสอบถามทนายจำเลยถึงการไม่นำตัวจำเลยมาเบิกความเป็นพยาน ทนายจำเลยแถลงเพียงว่า จำเลยติดธุระสำคัญไม่อาจมาศาลได้เท่านั้น ถือได้ว่าข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลชั้นต้นแล้วว่า คำร้องขอเลื่อนคดีและคำแถลงของทนายจำเลยไม่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้และไม่แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีก จะทำให้เสียความยุติธรรม ประกอบกับศาลชั้นต้นได้กำชับให้นำตัวจำเลยเข้าเบิกความ หากไม่มีพยานอื่นของจำเลยมาศาลในนัดก่อนหน้านี้แล้ว ศาลชั้นต้นหาจำต้องไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยอีกแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86, 226, 249

โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ในวันเดียวกันศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตและถือว่าไม่ติดใจสืบพยาน ซึ่งเป็นคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ และเมื่อจำเลย แถลงไม่สืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้นัดฟังคำพิพากษา คำสั่งไม่อนุญาต ให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์ของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่าง พิจารณา โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้จะต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ และต้อง อุทธรณ์คำสั่งภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาดังกล่าว และโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนี้ก่อนเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไว้ ศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ และถือว่าปัญหานี้ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์ฎีกาปัญหานี้ขึ้นมาจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกอุทธรณ์กับยกฎีกาของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 832

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 832/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 208

จำเลยยื่นคำร้องว่า หากทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องก็ต้องต่อสู้คดีแน่นอน เพราะจำเลยไม่เคยทำสัญญากู้เงิน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และสัญญาค้ำประกันตามฟ้องโจทก์ หากจำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดีและนำพยานหลักฐานเข้าสืบแล้วจะทำให้คำพิพากษาของศาลเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยเป็นเพียงข้ออ้างลอย ๆ ไม่ได้ยกเหตุผลขึ้นประกอบโดยละเอียดและชัดแจ้งว่า หากจำเลยได้ต่อสู้คดีและนำพยานหลักฐานเข้าสืบแล้ว จะทำให้คำพิพากษาของศาลเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทั้งไม่ได้อ้างเหตุว่าคำพิพากษาไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนตรงไหน ส่วนใด นอกจากนั้นก็ไม่ได้แสดงเหตุผลว่า หากมีการอนุญาตให้พิจารณาใหม่ คำพิพากษาจะเปลี่ยนแปลงเป็นผลดีแก่จำเลยอย่างไร จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสอง

ศาลชั้นต้นตรวจรับคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยแล้วการสั่งรับคำร้องเป็นเพียงกระบวนการเบื้องต้นที่จะให้คำร้องนั้นเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล มิได้ตัดอำนาจของศาลในการพิจารณาคำร้องนั้นต่อไปว่าชอบหรือไม่ ในชั้นตรวจรับคำร้อง แม้ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งยกคำร้องทันที แต่ได้นัดไต่สวนคำร้องไว้ก็ตาม เมื่อถึงวันนัด หากศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งยกคำร้องได้ เมื่อเห็นว่า คำร้องดังกล่าวมิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บทกฎหมายกำหนดไว้ หาจำต้อง ไต่สวนต่อไปไม่ เพราะเป็นการเปล่าประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382, 1385, 1401 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5)

จำเลยที่ 1 กับ ย. เข้าหุ้นกันซื้อที่ดินแล้วนำมาจัดสรรขาย ในการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวได้เว้นที่ดินพิพาทเป็นถนนซอยสำหรับให้ที่ดินที่อยู่ด้านหลังเป็นทางเข้าออก เพื่อให้เห็นว่าที่ดินที่อยู่ด้านหน้า 9 แปลง กับที่ดินที่อยู่ด้านหลัง 3 แปลง ไม่ติดต่อกันโดยมีที่ดินพิพาทของบุคคลอื่นคั่นอยู่ และให้ ย. ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตจัดสรรที่ดินขายต่อทางราชการในที่ดินเกินกว่า 10 แปลงขึ้นไป การตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ย. จึงหาใช่เจตนาอันแท้จริงของบุคคลทั้งสอง แต่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเว้นที่ดินพิพาทไว้เพื่อเป็นทางเข้าสู่ถนนสาธารณะสำหรับที่ดินพิพาทที่อยู่ด้านหลังมาตั้งแต่แรก แม้ พ. ผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 เพียงแต่ใช้รถยนต์ผ่านที่ดินพิพาทเข้าไป ก็ถือได้ว่าใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกแล้ว และนับแต่ พ. ซื้อที่ดินดังกล่าวถึงวันที่ขายให้แก่โจทก์เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 แม้ พ. จะไม่ได้จดทะเบียนทรัพยสิทธิภาระจำยอมก็ตาม

ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าทนายความโจทก์เกินไปกว่าอัตราค่าทนายความขั้นสูงที่ตาราง 6 กำหนด และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมาโดยไม่แก้ไขเป็นการไม่ถูกต้อง แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 391, 392, 369, 1336 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 153

สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 และตามมาตรา 392 บัญญัติว่า การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369 อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ตลอดเวลาที่ผู้เช่าซื้อยังครอบครองรถยนต์อยู่ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย

ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยให้ผู้ค้ำประกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แต่วินิจฉัยว่าที่ศาลชั้นต้นฟังว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาแท้จริงเท่าใด และกำหนดให้ผู้ค้ำประกันใช้ราคาแทนตามจำนวนดังกล่าวหากผู้ค้ำประกันไม่สามารถส่งมอบรถยนต์คืนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบและเหมาะสมแล้ว ผู้ค้ำประกันมิได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าราคารถยนต์ที่ศาลอุทธรณ์ให้ผู้ค้ำประกันชดใช้แทนในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์คืนสูงเกินไปหรือไม่ ถูกต้องอย่างไรแต่กลับฎีกาว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เพราะหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อระงับไป ดังนี้ฎีกาของผู้ค้ำประกันมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบหรือผิดพลาดอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153

สัญญาเช่าซื้อมิได้ระบุถึงการสิ้นสุดของสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อจึงสิ้นสุดลงเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและให้ผู้ค้ำประกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน หากไม่สามารถส่งมอบคืนให้ใช้ราคาแทน เป็นเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอำนาจจัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ใช้สิทธิในฐานะลูกหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรียกเอารถยนต์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดครอบครองรถยนต์ของลูกหนี้ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาในการใช้สิทธิเช่นนี้ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายความได้สิทธิ ส่วนค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3

« »
ติดต่อเราทาง LINE