คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 90, 295, 297 (4)

จำเลยทั้งสามเป็นคนร้ายร่วมกับพวกกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสอง ตามเอกสารใบชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่า ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดที่ใบหน้าและศีรษะ สำหรับบาดแผลที่ใบหน้ามีบาดแผลฉีกขาดที่แก้มซ้ายขนาดยาว 6 เซนติเมตร และขนาดยาว 5 เซนติเมตร บาดแผลที่ใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 ถูกขวดเบียร์แตกที่ก้นขวดแทง ต้องเย็บถึง 100 เข็ม หลังเกิดเหตุ 20 วัน ก็ยังสามารถมองเห็นบาดแผลดังกล่าวได้ชัดในระยะ 5 เมตร แม้จะทำศัลยกรรมตบแต่งบนใบหน้าก็ไม่สามารถทำให้หายเป็นเนื้อปกติได้ แต่จะจางลง และในวันที่ศาลชั้นต้นดูรอยแผลเป็นของผู้เสียหายที่ 2 เป็นวันที่ผู้เสียหายที่ 2 มาเบิกความห่างจากวันเกิดเหตุประมาณ 8 เดือนเศษ ก็ยังปรากฏรอยแผลเป็นให้เห็นได้ชัดย่อมฟังได้ว่า แผลที่ใบหน้าด้านซ้ายของผู้เสียหายที่ 2 ทำให้หน้าเสียโฉมอย่างติดตัวเป็นอันตรายสาหัสตาม มาตรา 297(4) แล้ว จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,295,297(4) และให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(4) ประกอบ มาตรา 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคสอง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยเป็นว่า จำคุก 40 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง จำคุก 20 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์มิได้แก้บทกฎหมายที่จำเลยกระทำความผิดเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ที่โจทก์ฎีกาว่า ควรลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะเป็นความผิดร้ายแรง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการลงโทษจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 339 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

ผู้เสียหายยืนเรียกรถแท็กซี่ จำเลยทั้งสองและพวกอีก 1 คนเข้าไปพูดกับผู้เสียหายขอไปนอนด้วยที่โรงแรม ผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยทั้งสองลูบตามตัวผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ล้วงกระเป๋ากางเกงหยิบเอาเงินสดของผู้เสียหายไป แล้วส่งเงินแก่พวกของตนแล้วทั้งหมดหลบหนีไป ผู้เสียหายวิ่งตามจับจำเลยทั้งสองได้จำเลยที่ 1 กัดมือซ้ายและจำเลยที่ 2 กัดมือขวาของผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมปล่อยจำเลยทั้งสอง ถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันลักทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 209 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นขณะจำเลยกระทำความผิดมาเป็นพยานแต่โจทก์มีสิบเอก อ. ผู้ซึ่งสืบสวนทราบว่า จำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายบีอาร์เอ็น พันตำรวจตรี ส. ผู้จับกุม จ่าสิบโท พ. ผู้ซักถามจำเลยหลังถูกจับและพันตำรวจโท ช. พนักงานสอบสวนพยานแวดล้อมเข้าเบิกความประกอบเอกสารและภาพถ่ายสอดคล้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ก่อนจับกุมจำเลยที่สิบเอก อ. สืบทราบว่าจำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้าย บีอาร์เอ็น ที่มีนาย อ. เป็นหัวหน้า ซึ่งในช่วงปี 2540 นาย อ. กับพวกปะทะกับเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ยึดอาวุธปืน วิทยุสื่อสาร เอกสารเรียกค่าคุ้มครองและภาพถ่ายสมาชิกกลุ่มโจรก่อการร้าย รวมทั้งภาพถ่ายที่มีภาพจำเลยอยู่ด้วย จนกระทั่งหลังจำเลยถูกจับกุมได้ให้การรับสารภาพต่อพันตำรวจตรี ส. พันตำรวจโท ช. กับพันตำรวจตรี ป. ในข้อหาอั้งยี่ ตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การผู้ต้องหาทั้งจำเลยรับต่อพันตำรวจตรี ส. และจ่าสิบโท พ. ว่าก่อนถูกจับกุมจำเลยได้เข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บีอาร์เอ็น และมีภาพถ่ายของจำเลยอยู่ในภาพที่พันตำรวจตรี ส. ได้มาก่อนจำเลยถูกจับและได้ลงลายมือไว้ในภาพนั้นด้วย แม้พันตำรวจตรี ส. กับสิบเอก อ. จะเบิกความแตกต่างถึงแหล่งที่มาก็มิใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะสาระสำคัญอยู่ที่บุคคลตามภาพถ่ายเป็นจำเลยหรือไม่ ซึ่งในชั้นพิจารณาจำเลยก็รับว่าเป็นบุคคลตามภาพถ่าย เพียงแต่นำสืบปฏิเสธว่า ถูกกลุ่มขบวนการก่อการร้ายขู่บังคับให้เข้าร่วมขบวนการ มิฉะนั้นจะถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองและบังคับให้แต่งชุดเดินป่าและถือปืนแล้วถ่ายภาพไว้ซึ่งขัดต่อเหตุผลเพราะหากเป็นการขู่บังคับน่าจะใช้อาวุธข่มขู่จะได้ผลดีกว่า และที่จำเลยนำสืบว่าได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหลายฉบับ แต่ไม่ทราบข้อความเนื่องจากอ่านเขียนและพูดภาษาไทยไม่ได้และไม่มีล่ามแปลให้จำเลยฟังนั้น ในชั้นสอบสวนพันตำรวจโท ช. เบิกความว่าการสอบปากคำจำเลยได้ให้นายดาบตำรวจ ว. เป็นล่ามแปลและจำเลยได้ให้การไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับวันเวลา สถานที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่จริงสอดคล้องกับบุคคลและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าพนักงานคงไม่สามารถบันทึกขึ้นเองได้ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบนั้นไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้

จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจรก่อการร้ายขบวนการ บีอาร์เอ็นกลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงมีความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 104

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง,914และมาตรา 989 วรรคหนึ่ง บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในเช็คจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค ภาระการพิสูจน์ว่าเช็คพิพาทไม่มีลูกหนี้ต่อโจทก์จึงตกแก่จำเลยผู้สั่งจ่ายแต่ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏเหตุผลให้รับฟังได้ว่า หากจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อการร่วมลงทุนในบริษัท ย. เหตุใดเมื่อบริษัทเลิกกิจการ จำเลยจึงไม่ทวงเช็คพิพาทคืนจากโจทก์และในทางนำสืบของจำเลยก็ระบุว่านาย ข. กรรมการบริษัทดังกล่าวถูกโจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คซึ่งสั่งจ่ายให้ไว้แก่โจทก์เช่นเดียวกับจำเลยในวิสัยเช่นนี้ จำเลยก็ชอบที่จะสืบนาย ข. หรือกรรมการอีก 3 คน เป็น พยานสนับสนุนข้อต่อสู้ฝ่ายตนแต่จำเลยหากระทำไม่ ฉะนั้นพยานหลักฐาน จำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอให้มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยไม่มีมูลหนี้ ตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ตามหน้าที่ที่จำเลยมีภาระการพิสูจน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1030

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1030/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56

การเสพเมทแอมเฟตามีนในขณะขับรถเป็นความผิดร้ายแรง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลในวัยทำงานไปโดยใช่เหตุเป็นจำนวนมาก จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถยนต์บรรทุก แม้จำเลยจะไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ยังไม่เพียงพอที่จะนำมารับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 149, 380, 654

แม้จำนวนเงินตามเช็คที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดจะเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คที่จำเลยค้างชำระโจทก์แต่เงินจำนวนนี้ก็เป็นดอกเบี้ยที่คิดจากมูลหนี้เดิมที่เกิดจากการซื้อขายและค่าจ้างทำของที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้ตามสัญญา มิใช่มูลหนี้เดิมมาจากการกู้ยืมเงินจึงไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้โจทก์เรียกหรือคิดดอกเบี้ยเกินกว่าในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยได้ตามที่จำเลยตกลงจะชำระให้แก่โจทก์ ดอกเบี้ยดังกล่าวหาตกเป็นโมฆะเพราะโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1161

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1161/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 337, 339

จำเลยจับแขนผู้เสียหายพูดว่า มาทางนี้เดี๋ยว เอาเงินมา ผู้เสียหายตอบว่าไม่มี จำเลยก็ชักอาวุธมีดคัทเตอร์มาจี้ผู้เสียหายผู้เสียหายสลัดหลุดวิ่งไปหา ส. จำเลยก็ตามไปพร้อมกับพูดว่า จะหนีไปไหน ผู้เสียหายกลัวจึงบอก ส. ให้มอบเงินแก่จำเลยไป แสดงว่าจำเลยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย ด้วยการทำร้ายร่างกาย และให้ผู้เสียหายส่งเงินให้จำเลยในขณะนั้น การกระทำ ของจำเลย จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ใช่กรรโชก เนื่องจากมิใช่เป็นการขู่ ว่าจะทำร้ายผู้เสียหายและให้ส่งเงินแก่จำเลยในภายหลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1158

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1158/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 21

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติเกี่ยวกับการคำนวณระยะเวลาจำคุกว่า ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือนการที่ศาลล่างทั้งสองนำโทษจำคุกของจำเลยซึ่งศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุก 6 เดือน รวม 2 ข้อหา และลงโทษจำคุก 3 เดือน อีกหนึ่งข้อหารวมกันเป็นจำคุก 1 ปี 3 เดือน จึงเป็นผลร้ายแก่จำเลย ต้องรวมทุกข้อหาแล้วลงโทษจำคุกจำเลย 15 เดือน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146/2543

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ม. 11, 13, 136

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 13 บัญญัติไว้ว่า"ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ว่าด้วยการโอนคดีในท้องที่ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นใดในท้องที่นั้นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวไว้พิจารณาพิพากษา" บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะคดีที่จะฟ้องใหม่เมื่อเริ่มเปิดทำการศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่นั้น ๆ แล้วเท่านั้น ส่วนคดีที่ได้ฟ้องต่อศาลอื่นตามเขตอำนาจเดิมไว้แล้ว ค้างพิจารณาอยู่และไม่ได้ดำเนินการโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวที่เปิดทำการใหม่ ศาลที่รับฟ้องคดีไว้แล้วจึงยังคงมีอำนาจพิจารณาคดีต่อไปได้ตามมาตรา 11(1) และ 136 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 ต่อศาลจังหวัดชลบุรี แล้วต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดชลบุรีในระหว่างพิจารณาคดี แต่ศาลจังหวัดชลบุรีมิได้โอนคดีไปยังแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในศาลจังหวัดชลบุรีศาลจังหวัดชลบุรียังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี นี้ต่อไปได้จนเสร็จตามบทกฎหมายดังกล่าว

« »
ติดต่อเราทาง LINE