คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1261

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1261/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 11, 406, 466 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสอง

หนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำระบุว่าเป็นการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)3 แปลง(น.ส.3)1 แปลง แม้ไม่ระบุเนื้อที่ดินแต่ละแปลง แต่ก็ระบุจำนวนเนื้อที่รวมซึ่งเป็นผลบวกของเนื้อที่ดินทั้งสี่แปลง ต่อมามีการโอนสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ก. 3 แปลง ส่วนที่ดินตาม น.ส. 3 ไม่ได้โอนสิทธิครอบครองกันเนื่องจากที่ดินไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันจึงมีการเปลี่ยนที่ดิน โดยนำที่ดินที่ติดต่อกับที่ดิน 3 แปลงข้างต้นมาซื้อขายกัน และคิดราคาที่ดินคำนวณเป็นราคาตารางวา โดยผู้ขายต้องใช้เงินคืนแก่ผู้ซื้อเพราะที่ดินแปลงใหม่มีเนื้อที่น้อยกว่าที่ดินแปลงเดิม ซึ่งราคาที่ดินที่ใช้คืนคำนวณแล้วก็ตรงกับราคาที่ตกลงซื้อขายกันแต่แรก แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์กับจำเลยว่าการซื้อขายที่ดินดังกล่าวถือเอาจำนวนเนื้อที่ดินเป็นสาระสำคัญ มิใช่เป็นการขายเหมา เมื่อจำเลยส่งมอบที่ดินน้อยไปกว่าที่ตกลงกันไว้โดยโจทก์มิได้บอกปัดแต่รับเอาที่ดินไว้และใช้ราคาที่ดินตามส่วนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้แก่จำเลยเกินไปบางส่วนแล้วมาฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนด้วยเหตุที่จำเลยส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายกันขาดตกบกพร่องจากจำนวนที่ตกลงซื้อขายกันและจำเลยไม่อาจอ้างกฎหมายที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวไว้โดยชอบเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406

จำเลยให้การเพียงว่าไม่ต้องรับผิดตามฟ้องและไม่เข้ากฎหมายลักษณะลาภมิควรได้ กับคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว โดยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าคดีขาดอายุความในเรื่องใด อายุความมีกำหนดเท่าใด ซึ่งเริ่ม นับแต่เมื่อใดและเพราะเหตุใด ไม่ก่อให้เกิดประเด็นในเรื่องอายุความ

จำเลยต้องคืนเงินแก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ตามจำนวนเนื้อที่ดินที่หายไป เมื่อมีข้อสงสัยว่าที่ดินที่ซื้อขายกันนั้นขาดจำนวนไป 397 ตารางวาหรือ 297 ตารางวา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ก็คือจำเลยผู้ขายนั่นเอง เพราะมูลหนี้ที่ต้องเสียในคดีนี้เป็นการชำระเงินคืนแก่โจทก์ผู้ซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150

วิชาชีพทนายความมีลักษณะผูกขาดที่ทนายความได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหลายประการ ย่อมมีพันธกรณีต่อสังคมที่ต้องปฏิบัติและดำรงตนให้ต้องกับหลักจริยธรรมทางวิชาชีพ ในส่วนการปฏิบัติหน้าที่ทนายความมีส่วนสำคัญในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมแก่คู่ความดุจเป็นเจ้าหน้าที่ของศาล ทนายความไม่พึงทำสัญญากับลูกความในลักษณะที่ตนเองมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีจนกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยส่วนที่ตกลงให้สินจ้างกันอีกร้อยละ 5ของทุนทรัพย์สินสมรสที่จำเลยจะได้รับ เป็นข้อสัญญาที่ให้ทนายความเข้ามีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดีไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความ ถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และการวางระเบียบข้อบังคับแก่ทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความกับความสมบูรณ์ของสัญญาระหว่างทนายความและลูกความเป็นคนละส่วนกัน ที่ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 มิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอย่างพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2477 และ พ.ศ. 2508 มีผลเพียงว่าสัญญาลักษณะนี้ไม่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความแต่หามีผลให้ข้อสัญญาดังกล่าวกลับมีความสมบูรณ์แต่อย่างใดไม่สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์จำเลยในส่วนนี้จึงเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1253

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1253/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งและกล่าวยอมรับในคำฟ้องฎีกาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การในชั้นสอบสวนต่อพนักงานสอบสวนไว้ซึ่งมีข้อความว่า วันเกิดเหตุ ย. เจ้ามือสลากกินรวบได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางซึ่งจะมีผู้นำมาส่งให้ศาลาที่พักผู้โดยสารริมทางในเวลา 20 นาฬิกา และให้นำไปส่งแก่หญิงคนหนึ่ง ซึ่งย.เคยพาจำเลยที่ 1 ไปดูตัวไว้แล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 จะต้องไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางและนำไปส่งให้แก่ผู้รับในทันทีตามเวลาและสถานที่ที่ผู้ว่าจ้างกำหนดไว้ จึงย่อมไม่มีเวลาเหลือพอที่จะไปรับจำเลยที่ 2 ที่บ้านและชวนไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารตามที่จำเลยที่ 1 ให้การไว้ได้ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ให้การว่าจำเลยที่ 1 มาชวนจำเลยที่ 2 ไปเป็นเพื่อนโดยไม่ทราบว่าไปที่ใด หาใช่มาชวนไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารดังที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ไม่ อีกทั้งจุดที่จำเลยทั้งสองถูกตรวจค้นจับกุมก็ผ่านร้านอาหารที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าจะไปรับประทานอาหารแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ขัดต่อเหตุผลและข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน ขาดน้ำหนักไม่น่าเชื่อถือพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 เป็นน้องของภริยาจำเลยที่ 1 รู้จักคุ้นเคยกัน ขับรถจักรยานยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ถือเมทแอมเฟตามีนของกลางซึ่งมีจำนวนถึง 1,979 เม็ดไปส่งให้แก่ผู้อื่น ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

แม้โจทก์มีประจักษ์พยาน แต่คำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสามปากสับสนและขัดต่อเหตุผลเป็นเหตุให้ไม่น่าเชื่ออยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสนใจคนร้ายที่เดินเข้ามาในซอยเกิดเหตุ แสงสว่าง ตลอดจนการชี้ตัวคนร้ายที่สถานีตำรวจแสดงให้เห็นว่า การเห็นและจดจำคนร้ายของพยานโจทก์ทั้งสามไม่มีความแน่นอนรับฟังเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ พยานโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทำงานขยันขันแข็งและแม้หลังจากเกิดเหตุคดีนี้แล้วยังช่วยทำงานให้กับนายจ้างซึ่งเป็นน้องสาวของผู้เสียหายซึ่งไม่ยอมให้จำเลยลาออกจากงานอีกด้วย พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นคนร้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 572, 863 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94

โจทก์นำสืบโดยส่งต้นฉบับสัญญาเช่าซื้อเป็นพยาน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากโจทก์จริง ส่วนจำเลยร่วมถูกเรียกเข้ามาในคดีโดยมิได้ต่อสู้ว่าเอกสารสัญญาเช่าซื้อปลอม ไม่สมบูรณ์แต่ประการใด จำเลยร่วมจะอ้างคำเบิกความของ พ. กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 หรือพยานบุคคลอื่นมาหักล้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเช่าซื้อซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อมิได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ประโยชน์และมีสิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์เมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบตลอดจนต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อ ความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแก่รถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย ถึงแม้จะให้ผู้อื่นนำรถยนต์ไปใช้หรือชำระค่าเช่าซื้อเบี้ยประกันแทนก็หาทำให้เสียสิทธิหรือหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไม่จำเลยร่วมจึงต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 และต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 33 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 15, 66, 67

เมื่อเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนต่างเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เหมือนกัน การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ส่วนธนบัตรของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้มาเพราะกระทำความผิดคดีนี้ จึงไม่อาจริบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1228

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1228/2543

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 193/34 (8), 193/34 (9) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่จำเลยลงโทษตัดค่าจ้างโจทก์และให้คืนเงินค่าจ้างที่ตัดไปแก่โจทก์ มิใช่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นเพื่อการงานที่ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(8)(9) ซึ่งกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

ศาลแรงงานได้พิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยประกอบเอกสารต่าง ๆ ในสำนวน แล้ววินิจฉัยว่าพยานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามที่จำเลยกล่าวอ้างอันเป็นการวินิจฉัยรวมไปถึงเหตุต่าง ๆ ทั้งหมดที่จำเลยอ้างแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยได้อ้างคำเบิกความของพยานจำเลยประกอบกับพยานเอกสารเพื่อให้ฟังว่าโจทก์กระทำผิดและจำเลยมีสิทธิลงโทษโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 195 วรรคสอง, 225

โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมและมิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่คำฟ้องก็ได้ระบุมาแจ้งชัดว่าจำเลยออกเช็ค2 ฉบับ ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามเช็คแต่ละฉบับศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ได้ ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) เพียงแต่บัญญัติให้โจทก์อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเท่านั้น หาได้บัญญัติให้จำต้องอ้างถึงบทมาตราเกี่ยวกับการลงโทษหลายกรรมด้วยไม่ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2543

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (3), ตาราง 1 ประมวลรัษฎากร พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 17

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติเรื่องค่าขึ้นศาลไว้โดยเฉพาะดังนั้นจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องค่าขึ้นศาลมิได้บัญญัติว่าคดีหนึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ในการพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาคำฟ้องเป็นเกณฑ์ ซึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) บัญญัติว่า คำฟ้อง หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลฯ ดังนี้ การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหาแต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกันได้ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ข้อหาหนึ่ง ปี 2538 ข้อหาหนึ่งและปี 2539อีกข้อหาหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 3 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสามข้อหา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132/2543

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59 วรรคสอง, 83

พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองนั่งรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 เข้าไปในป่าโดยมีอาวุธปืนยาวคาร์ไบน์และเครื่องกระสุนของกลางมาด้วย และร้อยตำรวจเอก ธ. กับพวกจับกุมจำเลยทั้งสองได้ที่ห้างนาที่เกิดเหตุในขณะที่จำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนยาวคาร์ไบน์ของกลางอยู่ แม้ขณะเข้าจับกุม จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ถืออาวุธปืนยาวคาร์ไบน์ของกลางก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองนั่งรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 มายังที่เกิดเหตุด้วยกันโดยมีอาวุธปืนยาวคาร์ไบน์ของกลางติดมาในรถยนต์กระบะด้วย ทั้งการงานที่จำเลยทั้งสองมาทำในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุก็เป็นการงานของจำเลยที่ 2 เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีอาวุธปืนยาวคาร์ไบน์ของกลางมาเพื่อใช้ในกิจการงานของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกันกับจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนยาวคาร์ไบน์และเครื่องกระสุนปืนของกลางซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองด้วย

« »
ติดต่อเราทาง LINE