คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 29 วรรคแรก, 172

มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้ชนรถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหายมีรายละเอียดแห่งข้อหาแต่ละข้อตามฟ้องเกิดต่างวันต่างเวลากันทั้งข้อเท็จจริงที่เกิดเหตุแตกต่างกันการนำสืบพยานหลักฐานต่างๆย่อมไม่สะดวกต่อการพิจารณาของศาลและการที่รถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยคันหนึ่งละเมิดชนรถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหายก็มิได้หมายความว่ารถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้อีกคันหนึ่งจะต้องรับผิดต่อรถยนต์โดยสารของโจทก์คันอื่นด้วยเป็นการแสดงชัดแจ้งว่าข้อหาแต่ละอย่างตามฟ้องมิได้เกี่ยวข้องกันแม้จะเป็นมูลหนี้เรียกค่าเสียหายมีลักษณะประเภทเดียวกันก็ตามโจทก์จะนำมารวมฟ้องเป็นคดีเดียวกันหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68

ผู้ตายเป็นคนขาดศีลธรรมมักมากในกามชอบเอาเปรียบผู้หญิงเห็นผู้หญิงเป็นเครื่องบำเรอความสุขของตนจนภริยาทนต่อการถูกทุบตีไม่ไหวต้องหนีไปอยู่ที่อื่นแสดงให้เห็นว่าผู้ตายเป็นคนชอบทำอะไรตามใจตัวเองจำเลยเป็นหญิงมีอายุมากแล้วคงไม่กล้าเข้าทำร้ายผู้ตายที่หนุ่มแน่นและแข็งแรงกว่าวันเกิดเหตุผู้ตายเห็นจำเลยอยู่บ้านคนเดียวจะบังคับเอาเงินจากจำเลยให้ได้เมื่อเห็นจำเลยจะต่อสู้จึงชักมีดออกมาจะทำร้ายจำเลยจึงถูกจำเลยฟันเอาก่อนแต่ผู้ตายไม่ยอมหยุดลุกขึ้นจะทำร้ายจำเลยอีกพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและใกล้จะถึงจำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันชีวิตของตนเองได้โดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อในภาวะเช่นจำเลยย่อมไม่อาจคาดคิดได้ว่าจะฟันกี่ครั้งจึงจะหยุดยั้งผู้ตายได้ฉะนั้นการที่จำเลยฟันผู้ตายที่ใบหน้าและศีรษะหลายครั้งจึงเป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7441

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7441/2540

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 115

การจำนองเป็นสัญญาที่เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ จึงมีหน้าที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธานส่วนหนึ่ง คือหนี้เงินกู้ที่ผู้คัดค้านจ่ายให้ จำเลยรับไป ส่วนจำนองที่จำเลยทำสัญญาและจดทะเบียนให้แก่ผู้คัดค้านนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์แห่งหนี้อันเป็นประธาน ซึ่งเป็นหนี้คนละส่วนแยกออกจากกันได้ การกู้เงินคดีนี้จำเลยได้รับเงินจากผู้คัดค้านไปแล้วในวันทำสัญญาและเพื่อเป็นหลักประกันที่จำเลยจะปฏิบัติตามสัญญาจำเลยได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทมาจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าวไว้แก่ผู้คัดค้านเช่นนี้ การที่จำเลยกู้เงินผู้คัดค้านและได้รับเงินกู้จากผู้คัดค้านไปแล้ว ในทันทีทันใดนั้น การกู้เงินระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลยได้เกิดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นแม้จะเป็นวันเดียวกันจำเลยมาทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทกับผู้คัดค้านอีก กรณีถือได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอยู่ก่อนแล้วในขณะที่มีการ ทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 5 รายรวมเป็นเงิน 157,572,672.38 บาทแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องรวบรวมทรัพย์สินได้เพียง31,000 บาท ที่ผู้คัดค้านนำมาชำระหนี้ตามคำสั่งศาลให้เพิกถอนการชำระหนี้เท่านั้น และไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินอื่นของจำเลยมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ครบถ้วน การที่จำเลยได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเพื่อเป็นประกันหนี้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทได้ก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยเจ้าหนี้อื่นไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเพื่อชำระหนี้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมเห็นได้ว่าจำเลยกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น แม้ผู้คัดค้านจะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และการจำนองเป็นนิติกรรมต่างตอบแทน ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจำนองรายนี้เสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 115

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7437

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7437/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 208

จำเลยให้การต่อสู้คดี แต่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2534 คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2534 กล่าวแต่เหตุที่จำเลยขาดนัดเพียงประการเดียว ไม่ได้กล่าวโดยละเอียดและชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำชี้ขาดของศาล ส่วนข้ออ้างในคำร้องขอว่า จำเลยมาขอตรวจสำนวนเมื่อวันที่22 พฤศจิกายน 2538 และไม่สามารถขอคัดคำพิพากษาได้เพราะอยู่ในระหว่างจัดพิมพ์คำพิพากษานั้น ขัดต่อข้อเท็จจริงเพราะปรากฏในสำนวนว่าทนายจำเลยเพิ่งยื่นคำแถลงขอถ่ายเอกสารคำพิพากษาวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ข้ออ้างตามคำร้องขอของจำเลยจึงไม่มีเหตุควรรับฟัง ดังนี้ เมื่อคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมิได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอเสียได้โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7188

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7188/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 63

การลักลอบนำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการสร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายด้านหลายประการเป็นต้นว่าทางด้านสาธารณสุข โดยที่คนต่างด้าวเหล่านั้นอาจนำเชื้อโรคที่แพร่หรือระบาดอยู่ในประเทศของคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาแพร่หรือระบาดในประเทศไทยจนยากที่จะควบคุมและทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินงบประมาณจำนวนมากในการป้องกันและรักษาโดยใช่เหตุ ทางด้านความมั่นคง คนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามามีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาประกอบอาชญากรรมที่เป็นภัยต่อสังคมและประเทศชาติทั้งที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ซึ่งยากต่อการที่จะป้องกันและปราบปราม หากปล่อยปละละเลยนับวันแต่จะเพิ่มมากขึ้น และทางด้านสังคมคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรมักจะเข้ามาแย่งอาชีพของคนไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศในด้านแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมส่งผลให้คนไทยต้องกลายเป็นผู้ไม่มีอาชีพหรือตกงานเป็นจำนวนมากกระทบกระเทือนต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวมพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องร้ายแรงไม่สมควรที่ศาลจะรอการลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7187

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7187/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 349, 368, 860

ข้อตกลงการคิดดอกเบี้ยในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่ให้เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร หมายความว่าให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์ ส่วนอัตราดอกเบี้ยต้องถือตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ไม่ทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในอัตราร้อยละ15 ต่อปีเปลี่ยนแปลงไป โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ และจะชำระให้เป็นรายเดือนมิได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มูลหนี้เดิมจึงไม่ระงับ การที่มีบุคคลอื่นมาค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์อีกไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันเดิมพ้นความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1571/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33

การที่จำเลยช่วยเหลือคนต่างด้าวให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยใช้รถจักรยานยนต์รับคนต่างด้าวดังกล่าวพาไปเพื่อให้พ้นจากการจับกุมนั้นการช่วยเหลือดังกล่าวมิจำเป็นต้องใช้พาหนะรถจักรยานยนต์ในการช่วยเหลือรถจักรยานยนต์ของกลางถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงเป็นทรัพย์สินที่ไม่ควรริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1548

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1548/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/34 (7)

โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการสินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิตโดยโจทก์ออกบัตรให้สมาชิกแล้วสมาชิกของโจทก์สามารถนำบัตรไปใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าบริการต่างๆกับเบิกเงินสดจากสถานประกอบกิจการค้าต่างๆและธนาคารทั้งในและต่างประเทศโจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังการให้บริการดังกล่าวแก่สมาชิกของโจทก์โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมรายปีโจทก์จึงเป็นผู้รับทำการงานต่างๆให้แก่สมาชิกและการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ2ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/34(7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7439

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7439/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 513 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249, 296, 308

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าราคาที่พิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติให้ขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์นั้น ยังเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และน่าจะขายทอดตลาดได้ในราคาที่สูงกว่านี้ การที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาเพียงว่าผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคาสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งโจทก์ได้ลงลายมือชื่อเห็นชอบแล้ว ราคาที่ประมูลได้จึงเป็นราคาที่เหมาะสมแล้วเท่านั้น โดยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลใด และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไรจึงต้องฟังว่าราคาที่พิพาทที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอและเจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติให้ขายนั้นเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง

การขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลของเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น นอกจาก ป.วิ.พ.มาตรา 308 บังคับไว้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.และกฎกระทรวงว่าด้วยการนั้นและตามข้อกำหนดของศาลแล้ว ในการขายทอดตลาดยังมีเจตนารมณ์เป็นประการสำคัญว่าจะต้องขายให้ได้ราคาสูงที่สุดเท่าที่สามารถจะประมูลขายได้ และหากเจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดหรือศาลเห็นว่าราคาที่ผู้ประมูลสูงสุดในครั้งนั้นยังต่ำไป เป็นราคาที่ไม่สมควรหรือควรจะได้ราคาสูงกว่านั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือศาลอาจไม่อนุญาตให้ขายแล้วเลื่อนไปประกาศขายใหม่ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 513

เมื่อราคาที่พิพาทที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอในการขายทอดตลาดและเจ้าพนักงานบังคับคดีอนุมัติให้ขายได้ ยังเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น กรณีถือได้ว่าการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทกฎหมายโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจำเลยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7438

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7438/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 145 วรรคหนึ่ง, 146, 420, 1304, 1367 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 ม. 10 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ.2497 พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2521

โจทก์ได้ที่ดิน 2 แปลง และปลูกบ้านกับต้นยูคาลิปตัสตามฟ้องภายหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลาอำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2497 ใช้บังคับแล้ว เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในราชการกระทรวงมหาดไทย อันเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังนี้จึงเป็นการที่โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครอง

ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลาอำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีพ.ศ. 2521 จะมีผลบังคับกับที่ดินที่ถูกเวนคืนต่อเมื่อเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนได้รับค่าชดเชยเสียก่อน

ต้นยูคาลิปตัสเป็นไม้ยืนต้นและปลูกเพื่อตัดขายเป็นคราว ๆ โดยไม่ต้องปลูกใหม่เมื่อมีหน่อขึ้นมาแล้วก็บำรุงรักษาหน่อไว้ก็สามารถตัดขายได้อีกดังนี้ การที่โจทก์มีเจตนาในการปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อประโยชน์เป็นเวลานานตลอดไปต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินโดยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146

ที่ดินแปลงพิพาทตามฟ้องอยู่ในเขตเวนคืน ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา ฯลฯ พ.ศ. 2521เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างท่าเรือน้ำลึกและกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการท่าเรือและให้ผู้อำนวยการของจำเลยร่วมเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว และเมื่อต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกในที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนควบของที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 มาตรา 10 ดังนี้ การที่จำเลยร่วมว่าจ้างจำเลยดำเนินการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและมอบที่ดินที่เวนคืนให้จำเลยดำเนินการ แล้วจำเลยตัดฟันต้นยูคาลิปตัสและขุดตอต้นยูคาลิปตัสในที่ดินดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

« »
ติดต่อเราทาง LINE