คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 558/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 357

จำเลยที่2เพียงรับจำนำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไว้มิใช่ซื้อรถจักรยานยนต์จากป. ซึ่งจะต้องชำระเงินเต็มตามราคาทรัพย์สินที่ซื้อไว้แต่การรับจำนำเป็นเพียงการที่ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยโดยปกติทั่วไปราคาทรัพย์ที่จำนำขึ้นอยู่กับผู้จำนำและผู้รับจำนำจะตกลงกันผู้จำนำอาจขอจำนำเพียง10ถึง20เปอร์เซ็นต์ของราคาทรัพย์ที่จำนำก็ได้เพื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันมากเกินไปแต่บางรายผู้จำนำอาจขอจำนำทรัพย์ในราคาที่สูงผู้รับจำนำอาจกำหนดราคาทรัพย์ที่จำนำให้ไม่สูงมากนักเพราะอาจเสี่ยงต่อการขาดทุนถ้าผู้จำนำไม่มาไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนำภายในระยะเวลาที่กำหนดและผู้รับจำนำต้องนำทรัพย์ที่จำนำออกขายแล้วได้เงินไม่คุ้มกับเงินที่รับจำนำพร้อมดอกเบี้ยก็ได้ดังนั้นการที่จำเลยที่2รับจำนำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในราคา2,300บาทจึงมิใช่ข้อพิรุธที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่2รู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์รูปคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 448, 1336

โจทก์ฟ้องให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีการค้าที่โจทก์มอบให้ไปชำระแก่กรมสรรพากรแทนแต่จำเลยไม่นำไปชำระเป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์ของโจทก์ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้สิทธิเช่นนี้เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิส่วนเงินค่าจ้างที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนนั้นเป็นการฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่รับเงินไปจากโจทก์แล้วผิดสัญญาไม่กระทำการที่จ้างมิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงใช้อายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296 วรรคสอง

การบังคับคดีจะเสร็จลงแล้วนั้นต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีการกระทำอย่างไรต่อไปอีกในการบังคับคดีคดีนี้โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาดจึงยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไปตามระเบียบและข้อบังคับการบังคับคดีอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งยังไม่เสร็จดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยแก่ผู้ซื้อทรัพย์ก็ตามกรณียังถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา296วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2438

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2438/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 95

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในคดีแพ่ง เป็นเพียงพยานความเห็นมิใช่ประจักษ์พยาน การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยแล้วรับฟังว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.5ไม่ใช่เอกสารปลอมโดยวินิจฉัยไว้ด้วยว่า ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ว่าลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.5 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อของโจทก์แล้วไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันนั้น เป็นเพียงหลักฐานที่จะรับฟังประกอบดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเท่านั้น มิใช่ว่าผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นอย่างไร ศาลต้องรับฟังตามนั้นเสนอไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224 วรรคหนึ่ง, 248 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของจำเลยต่อมาจำเลยได้รื้อรั้วไม้ขัดแตะซึ่งกั้นแนวเขตออกแล้วนำสังกะสีมาล้อมเป็นรั้วรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ3ตารางวาขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ให้จำเลยรื้อรั้วสังกะสีออกไปจำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยซ่อมแซมรั้วไม้ขัดแตะโดยเปลี่ยนรั้วสังกะสีในแนวเดิมมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์และฟ้องแย้งว่าโจทก์ปลูกสร้างบ้านใหม่โดยชายคาบ้านรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยประมาณ2ตารางวาขอให้บังคับโจทก์รื้อถอนชายคาบ้านในส่วนที่รุกล้ำที่ดินของจำเลยออกไปซึ่งโจทก์ทั้งสามได้ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ทั้งสามปลูกสร้างบ้านในเขตที่ดินของโจทก์มิได้รุกล้ำที่ดินของจำเลยจำเลยสร้างรั้วสังกะสีรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทำให้ชายคาบ้านโจทก์ทั้งสามล้ำแนวรั้วสังกะสีที่จำเลยทำขึ้นใหม่จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยต่างอ้างว่าตนเองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอันเป็นกรณีพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์แม้โจทก์จะมีคำขอให้บังคับจำเลยรื้อรั้วสังกะสีออกไปจากที่พิพาทและจำเลยจะมีคำขอให้โจทก์รื้อถอนชายคาบ้านในส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่พิพาทมาด้วยก็ตามแต่คำขอให้รื้อถอนดังกล่าวจะบังคับให้ได้หรือไม่เพียงใดนั้นเป็นเพียงผลต่อเนื่องมาจากข้อวินิจฉัยในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอันเป็นประเด็นสำคัญในคดีคดีนี้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์อย่างเดียวหาใช่เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยไม่ ที่พิพาทมีเนื้อที่ครึ่งตารางวาซึ่งโจทก์ตีราคาที่พิพาทตารางวาละ70,000บาทและจำเลยตีราคาที่พิพาทตารางวาละ375บาทดังนี้ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน50,000บาทและทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000บาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา224วรรคหนึ่งและมาตรา248วรรคหนึ่งที่จำเลยอุทธรณ์ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้โดยพิพากษาคดีมาก็ดีและที่โจทก์ฎีกาต่อมาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ทั้งสามมาก็ดีเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 428, 432

จำเลยที่2และที่3กับจำเลยที่4จ้างจำเลยที่1ต่อเติมอาคารทำให้อาคารโจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่2ที่3และที่4เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำเพราะเป็นการต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการประกอบกับไม่ปรากฎแน่ชัดว่าความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นเพราะการกระทำของจำเลยคนใดจำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา428และมาตรา432วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4 (1), 31

คำว่ามูลคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4หมายถึงต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้องแต่ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา31วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ.2535อันเนื่องมาแต่มูลเหตุละเมิดที่ละเมิดที่จำเลยได้ก่อขึ้นเท่านั้นการที่กรมการประกันภัยโจทก์ซึ่งได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวที่สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงพระโขนงซึ่งเป็นศาลชั้นต้นจึงมิใช่ต้นเหตุพิพาทอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์คงเป็นเพียงสิทธิที่โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นมูลคดีจึงมิได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแขวงพระโขนง โจทก์จะเสนอคำฟ้องของตนต่อศาลแขวงพระโขนงหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 550

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 550/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 1367, 1368

ตามข้อความในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาได้ว่าประสงค์จะให้ออกโฉนดที่ดินเสียก่อนแล้วจึงจะทำการซื้อขายให้เสร็จเด็ดขาดการออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่จึงเป็นข้อสำคัญการที่โจทก์เข้าไปจัดแบ่งที่ดินพิพาทเป็นแปลงย่อยเพื่อจัดสรรขายก็โดยมีความหวังว่าจะสามารถออกโฉนดที่ดินได้เป็นการเข้าไปจัดการล่วงหน้าก่อนที่จะมีการจดทะเบียนซื้อขายไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยเด็ดขาดกรณีมิใช่การซื้อขายสิทธิครอบครองโดยให้โจทก์ไปขอออกโฉนดที่ดินเอาเองจำเลยจึงยังคงมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจนกว่าจะออกโฉนดที่ดินและจดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ดังนั้นการที่โจทก์เข้าไปจัดแบ่งที่ดินพิพาทเป็นแปลงย่อยเพื่อจัดสรรขายย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยโจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจห้ามจำเลยมิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทแม้จำเลยจะนำรถเข้าไปไถหน้าดินจนเสียหายก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2436

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2436/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 94, 135 (2), 153

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้รายที่2ที่3และที่4ได้รับชำระหนี้และยกคำขอของเจ้าหนี้รายที่1การที่เจ้าหนี้รายที่2ที่3และที่4ยื่นคำร้องขอถอนคำขอรับชำระหนี้ก็เป็นสิทธิของเจ้าหนี้รายที่2ที่3และที่4ที่จะสละสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้ถอนคำขอรับชำระหนี้กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องอนุญาตอีกการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตจึงไม่ถูกต้องและเมื่อไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นจะต้องอนุญาตเสียแล้วกรณีก็ไม่จำต้องสอบถามจำเลยหรือจะต้องไต่สวนคำร้องคัดค้านของจำเลยก่อน ศาลฎีกาได้พิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา84และ87มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้4รายสำหรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่1ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำขอส่วนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่2ที่3และที่4ได้มีการขอถอนคำขอรับชำระหนี้แล้วจึงไม่มีเจ้าหนี้ที่จะขอรับชำระหนี้ต่อไปดังนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ตามมาตรา135(2)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2435

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2435/2540

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 32, 36, 41, 145 (5)

การที่ผู้ร้องเสนอขอชดใช้เงินและขอลดดอกเบี้ยคดีนี้เท่ากับเป็นการประนีประนอมยอมความซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจะปรานีประนอมยอมความได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา145(5)ประกอบด้วยมาตรา41การที่ผู้คัดค้านนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่าจะยอมรับข้อเสนอของผู้ร้องหรือไม่เป็นการขอความเห็นของที่ประชุมเจ้าหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าวและเป็นการปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของผู้ล้มละลายในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นตามมาตรา32เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับข้อเสนอและมีมติตามข้อเสนอของผู้ร้องแล้วก็เท่ากับเป็นการให้ความเห็นชอบในการประนีประนอมยอมความหากผู้คัดค้านเห็นว่ามติที่ประชุมเจ้าหนี้เกิดโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรมเป็นโมฆะขัดต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลของให้ศาลสั่งห้ามตามมาตรา36ซึ่งบัญญัติให้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้นั้นและถ้าไม่มีคำสั่งศาลห้ามมิให้ปฏิบัติตามมติก็ต้องปฏิบัติตามมตินั้นกรณีไม่มีทางที่ผู้คัดค้านจะปฏิบัติเป็นอย่างอื่นผิดไปจากมติที่ประชุมเจ้าหนี้ได้เมื่อมติที่ประชุมเจ้าหนี้ส่วนที่ลดดอกเบี้ยให้แก่ผู้ร้องยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ผู้คัดค้านต้องปฏิบัติตามนั้นเมื่อผู้ร้องได้นำเงินไปชำระตามมติดังกล่าวครบถ้วนแล้วผู้คัดค้านจะเรียกให้ผู้ร้องชำระหนี้เพิ่มเติมอีกไม่ได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE