คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142
คำฟ้องของโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ศาลเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์อาคารพร้อมที่ดิน แต่เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และโจทก์ได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน14,560,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวรวมถึงราคาพร้อมที่ดินที่ค้างชำระรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็คซึ่งเป็นราคาอาคารพร้อมที่ดินที่ค้างชำระตามที่โจทก์ได้กล่าวบรรยายมาในฟ้องแล้ว ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่ค้างชำระตามจำนวนที่ระบุในเช็ค ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2524/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89,106 ทวิ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขาย จำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ.มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง,106 ทวิ จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ.มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี4 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามพ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิเฉพาะในเรื่องโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยโดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวไม่เกิน 5 ปี คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานนี้นั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2523/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 574
ตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า "ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างดีที่สุด… หากเกิดความเสียหายขึ้นจะโดยเหตุเพราะผู้เช่าซื้อหรือบุคคลภายนอก หรือโดยอุบัติเหตุสุดวิสัยก็ตาม อันเป็นเหตุให้ทรัพย์สินสูญหายไป หรือเสียหายจนไม่อาจจะแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ หรือการซ่อมแซมแก้ไขนั้นคิดเป็นเงินเกินกว่าครึ่งหนึ่งของราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อแล้วผู้เช่าซื้อตกลงจะใช้ราคาทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ…" ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปประสบอุบัติเหตุเสียหายทั้งคันและถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพใช้การได้ดีคืนโจทก์หรือใช้ราคาแทนตามสัญญาที่ตกลงกันดังกล่าวข้างต้น การที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบถึงอุบัติเหตุดังกล่าวหาทำให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2522/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224, 408, 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475
เอกสารระบุว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญา โจทก์จะนำเงินของผู้ใดมาให้จำเลยกู้ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำได้ ไม่ทำให้สัญญากู้และสัญญาจำนองเสียไปแต่ประการใด
จำเลยกู้เงินโจทก์ 500,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ30 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2475 ตกเป็นโมฆะ เท่ากับการกู้เงินรายนี้มิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยไว้ แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินโจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้วจำเลยผิดนัด โจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยชำระเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์เป็นการชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 30 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท ด้วยความสมัครใจของจำเลยตามที่ตกลงกับโจทก์ไว้เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ จำเลยจะเรียกคืนหรือนำมาหักกับต้นเงิน 500,000 บาท มิได้ จำเลยจึงยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่ 500,000 บาท
การกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตกเป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยเกินอัตราเท่านั้น ไม่ทำให้การกู้เงินตกเป็นโมฆะไปด้วย สัญญากู้ส่วนที่มีการกู้เงินกันจริงยังคงมีผลผูกพันคู่สัญญากันอยู่ จำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้ยกเลิกสัญญามิได้ ทั้งไม่มีเหตุให้เพิกถอนสัญญาจำนองอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้เงินดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 904, 921, 940 วรรคสาม, 989, 1003 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 172, 225, 249 ตาราง 2 ค่าธรรมเนียมอื่น
โจทก์มิได้เสียค่าอ้างเอกสาร เพราะไม่ทราบว่ามีค่าอ้างเอกสารค้างชำระอยู่ ครั้นเมื่อโจทก์ทราบก็รีบจัดการชำระค่าอ้างเอกสารก่อนยื่นคำแก้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับไว้ อันเป็นการแก้ไขข้อผิดหลงให้ถูกต้องแล้วไม่ทำให้การรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวของโจทก์เสียไป
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับเช็คตามฟ้องจากจำเลยทั้งสามเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์สลักหลังเช็คนั้นไปขายลดแก่ธนาคารต่าง ๆ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด ธนาคารที่รับซื้อลดเช็คนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ โจทก์ได้ใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่ธนาคารผู้ทรงเช็คเรียบร้อยแล้วและได้รับเช็คคืนมา พร้อมทั้งมีคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนข้อที่ว่าโจทก์นำเงินไปชำระแก่ธนาคารและรับเช็คคืนมาเมื่อวันที่เท่าใดเป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท ซึ่งเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดหรือสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ โจทก์สลักหลังเช็คพิพาทนำไปขายลดแก่ธนาคารต่าง ๆ ธนาคารผู้รับซื้อลดเช็คไว้ย่อมเป็นผู้ทรงเช็ค การสลักหลังของโจทก์จึงเป็นเพียงประกัน (อาวัล)สำหรับผู้สั่งจ่าย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 โจทก์อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงเท่านั้น หาได้ถือว่าเป็นผู้สลักหลังตามกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแทนจำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 940 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989 กรณีดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ต้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องภายในกำหนดเวลาเท่าใด สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ไล่เบี้ยจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 หาใช่มีอายุความ 6 เดือน ตามป.พ.พ.มาตรา 1003 ไม่
ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งหกฉบับรวมเป็นเงิน 1,757,500 บาท ชำระหนี้ให้โจทก์ แม้จำเลยที่ 1และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับแก่โจทก์ไปแล้วบางส่วนเป็นจำนวนเงิน 670,603.56 บาท โดยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระไปนั้นเป็นเงินค่าดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าเป็นค่าดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการนำสืบของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบแม้ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาเป็นประเด็นขึ้นมาได้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2517/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 161 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 4
การที่ผู้ออกเช็คจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 นั้น คำฟ้องโจทก์ต้องบรรยายแสดงถึงการกระทำของจำเลยอันเป็นองค์ประกอบความผิดสำคัญเบื้องต้นว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายข้อความดังกล่าวไว้ให้ครบถ้วนชัดแจ้ง คงบรรยายฟ้องมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้แต่มิได้ระบุให้ชัดว่าเป็นหนี้อะไร บังคับตามกฎหมายได้หรือไม่เพียงใด ทั้งไม่ปรากฏว่ามีสัญญากู้ระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสี่แนบท้ายฟ้องแต่ประการใด จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดไม่อาจฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจฟังลงโทษตามฟ้องได้ ต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 383
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา383วรรคแรกกำหนดไว้ว่าถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ซึ่งในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้นจำต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางเสียในเชิงทรัพย์สินเมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไปการที่โจทก์ใช้สิทธิต้องการเรียกเอาเบี้ยปรับตามสัญญาเป็นรายวันอีกนั้นแม้เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่1ทำสัญญาตกลงกันก็เป็นเรื่องเงินค่าปรับที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายเป็นเงิน538,000บาทโจทก์ได้รับเงินมัดจำร้อยละ10ของราคาสิ่งของทั้งหมดไปแล้วโจทก์มาฟ้องจำเลยที่1ที่ไม่ส่งมอบของให้โจทก์ตามสัญญาโดยคำนวณเบี้ยปรับรายวันอัตราร้อยละ0.20ของราคาสิ่งของที่จำเลยที่1ไม่ได้ส่งมอบนับจากวันครบกำหนดส่งมอบสิ่งของจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแต่โจทก์ไม่อาจพิสูจน์ค่าเสียหายเพื่อการไม่ชำระหนี้อันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่1ได้อีกและโจทก์ได้รับเงินประกันคิดเป็นเงินร้อยละ10ของราคาสิ่งของทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายพอสมควรไปแล้วจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายเป็นค่าปรับอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183, 226
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา183วรรคสี่จำเลยทั้งสองมีสิทธิคัดค้านประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ไม่ถูกต้องโดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นส่งกำหนดประเด็นและศาลชั้นต้นต้องชี้ขาดคำคัดค้านนั้นก่อนวันสืบพยานซึ่งคำชี้ขาดคำคัดค้านดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226ปรากฎว่าเมื่อวันที่16มิถุนายน2537ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าตามฟ้องหรือไม่ทนายจำเลยทั้งสองได้แถลงโต้แย้งด้วยวาจาขอให้ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องสัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาไว้ด้วยศาลชั้นต้นมิได้ชี้ขาดคำคัดค้านของทนายจำเลยทั้งสองแต่มีคำสั่งให้ยื่นบันทึกข้อโต้แย้งต่อศาลภายใน7วันต่อมาวันที่22มิถุนายน2537ทนายจำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอให้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงให้ยกคำร้องถือว่าเป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา183วรรคสี่จำเลยทั้งสองต้องโต้แย้งไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226วรรคสองจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้แต่การที่จำเลยทั้งสองระบุท้ายคำร้องลงวันที่22มิถุนายน2537ว่าให้ถือคำแถลงฉบับดังกล่าวเป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาลเพื่อสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไปนั้นเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งชี้ขาดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226(2)จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304, 1387 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172
โจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 73454 และโฉนดเลขที่ 37455จาก น.เมื่อปี 2532 โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เข้าอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงโดยใช้ทางพิพาทมาก่อน ทั้งไม่ปรากฏว่า น.หรือบุคคลอื่นที่เคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงเคยใช้ทางพิพาทมาก่อน ดังนี้ ถึงแม้ว่าบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ติดทางพิพาทได้ใช้ทางพิพาทมาเกิน 10 ปี ที่ดินของจำเลยในส่วนทางพิพาทตัดผ่านก็ไม่เป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ แต่อาจเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงอื่นเท่านั้น แต่เมื่อปรากฏว่า ด.เจ้าของที่ดินพิพาทเดิมได้อุทิศถนนซอยพิพาทให้แก่มัสยิดเพื่อให้ประชาชนใช้ร่วมกันไปทำศาสนกิจในมัสยิด และได้อุทิศทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ร่วมกันโดยไม่หวงห้าม แสดงว่าได้อุทิศทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้ว จำเลยซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ด.จึงไม่มีสิทธิขัดขวางการใช้ทางพิพาทของโจทก์ และศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะได้เพราะโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่าทางพิพาทนอกจากเป็นทางภาระจำยอมแล้วยังเป็นทางสาธารณะอีกด้วย ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2492/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (6), 163, 164 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 15, 22 (5)
ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์อ้างว่า เช็คฉบับที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายชำระหนี้ตามมูลหนี้เดียวกับเช็คตามฟ้องทั้ง 2 ฉบับ แต่ขณะโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ยังหาเช็คและใบคืนเช็คฉบับที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่พบ ต่อมาโจทก์พบเช็คและใบคืนเช็คดังกล่าวในแฟ้มเอกสารโจทก์จึงมาขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ถือได้ว่ามีเหตุอันควรและโจทก์ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี เรียงกระทงลงโทษ รวมจำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน รวม 1 ปี 6 เดือน เมื่อผลสุดท้ายศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยกระทงละ 6 เดือน จึงไม่เกินอำนาจผู้พิพากษาคนเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 และมาตรา 22(5)
จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลย่อมลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ โดยโจทก์ไม่ต้องอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ไม่ใช่กฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด