คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5774

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5774/2539

ประมวลรัษฎากร ม. 67

โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารและขนของระหว่างประเทศมีรายรับจากราคาค่าโดยสารและค่าขนของระหว่างประเทศโจทก์ได้ทำสัญญาแต่งตั้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดอ.เป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสารของโจทก์ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวตัวแทนของโจทก์ดังกล่าวจะต้องขายตั๋วโดยสารเครื่องบินตามราคาที่โจทก์กำหนดให้ขายซึ่งโจทก์จะกำหนดไว้ต่ำกว่าราคาที่ระบุไว้หน้าตั๋วเนื่องจากจะต้องแข่งขันกับสายการบินอื่นโดยตัวแทนจะได้ค่าตอบแทนการขายในอัตราร้อยละ5ของราคาที่โจทก์กำหนดให้ตัวแทนขายและร้อยละ3ในกรณีที่ผู้โดยสารเดินทางโดยใช้สายการบินหลายบริษัทดังนั้นผลต่างระหว่างราคาที่ระบุในตั๋วโดยสารเครื่องบินกับราคาที่โจทก์กำหนดให้ขายจึงไม่เป็นรายได้ที่โจทก์ได้รับจะนำผลต่างดังกล่าวมาเป็นรายรับของโจทก์ด้วยไม่ได้รายได้ของโจทก์คงมีเพียงเท่าราคาที่โจทก์กำหนดให้ตัวแทนขายทั้งโจทก์ก็ได้นำรายได้ดังกล่าวทั้งหมดมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ3โดยมิได้หักค่าบำเหน็จที่จ่ายให้ตัวแทนออกก่อนจึงเป็นการเสียภาษีจากรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆถูกต้องตรงตามประมวลกฎหมายรัษฎากรมาตรา67แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5773

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5773/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173, 177 วรรคสาม

เดิมจำเลยในคดีนี้เคยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรีอ้างว่าจำเลยซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจากโจทก์โจทก์ขออาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยไม่ประสงค์ให้อาศัยอีกแจ้งให้ออกขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย โจทก์ได้ให้การและฟ้องแย้งว่าสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางโจทก์โอนบ้านและที่ดินพิพาทให้จำเลยเพื่อเป็นการประกันหนี้เงินกู้ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ ศาลแพ่งธนบุรีเห็นว่าฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งและพิพากษาให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาท โจทก์อุทธรณ์ ขณะที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยและให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทคืนแก่โจทก์โดยอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทเป็นนิติกรรมอำพราง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง โจทก์ฎีกา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การที่โจทก์จะนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องจำเลยคนเดียวกันอีกจึงเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5763

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5763/2539

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 25 วรรคแรก ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ม. ,

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ยังขาดอยู่ตามประกาศคณะกรรมการแก้ไขราคาเบื้องต้นจึงเป็นกรณีที่ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการดังกล่าวหาใช่กรณีที่โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการดังกล่าวกำหนดซึ่งต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน60วันตามมาตรา25วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ที่แก้ไขใหม่ไม่โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5762

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5762/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์และลงโทษโจทก์โดยมิชอบเพราะโจทก์มิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจำเลยให้การว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจำเลยจึงตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์แล้วลงโทษโจทก์เป็นการปฏิบัติโดยชอบและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำดังกล่าวของโจทก์การพิจารณาว่าจำเลยได้รับความเสียหายตามฟ้องแย้งหรือไม่จำนวนเท่าใดย่อมเป็นผลมาจากการวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องเดิมที่ว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ชอบหรือไม่ถือว่าฟ้องแย้งเป็นเรื่องเดียวกันกับฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5758

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5758/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 353, 456, 569 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94, 142

ตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่าหากผู้เช่าประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงที่เช่านี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเวลาใดที่สัญญาเช่านี้ยังมีผลบังคับผู้ให้เช่ายินยอมขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้เช่าในราคายุติธรรมซึ่งจะได้เจรจาทำความตกลงกันแต่ราคาที่ดินตามโฉนดทั้งแปลงต้องไม่สูงกว่ายี่สิบห้าล้านบาทถ้วนและสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่าหากผู้ใช้ประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงทำสัญญานี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเวลาใดที่สัญญานี้ยังมีผลบังคับผู้ให้เช่ายินยอมขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้ใช้ในราคายุติธรรมซึ่งจะได้เจรจาทำความตกลงกันแต่ราคาที่ดินจะต้องเป็นไปตามสัญญาเช่าที่ดินข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่จำเลยได้แสดงเจตนาผูกมัดตนเองว่าจะขายที่พิพาทกันให้แก่โจทก์การแสดงเจตนาของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะแน่นอนไม่มีเงื่อนไขหรือทางเลือกสำหรับจำเลยที่จะบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามเจตนาที่แสดงไว้จึงมีผลเป็นคำมั่นผูกพันจำเลยที่จะต้องขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ในราคาไม่สูงกว่า25,000,000บาทเมื่อโจทก์แสดงเจตนาจะซื้อที่พิพาทไปถึงจำเลยจึงก่อให้เกิดเป็นสัญญาผูกพันจำเลยที่จะต้องขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456วรรคสองเมื่อจำเลยผิดสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้ แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายแต่โจทก์ก็ได้แนบสัญญาดังกล่าวมาท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องและในชั้นชี้สองสถานศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทด้วยว่าจำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่าและสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินในอันที่จะต้องขายที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใดการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยถูกผูกพันที่จะต้องขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวเพราะสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของจำเลยที่จะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์จึงหาใช่เป็นการพิพากษานอกเหนือคำฟ้องไม่ เมื่อสัญญาเช่าและสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินระหว่างโจทก์จำเลยเป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456วรรคสองและโจทก์ก็ได้แสดงเจตนาจะซื้อที่พิพาทไปถึงจำเลยเป็นผลให้เกิดสัญญาผูกพันจำเลยที่จะต้องโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์และเมื่อกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโอนไปเป็นของโจทก์แล้วโจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งรวมทั้งสิทธิที่จะเก็บค่าเช่าด้วยบุคคลหาอาจเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ของตนเองได้ไม่กรณีเช่นนี้กฎหมายให้ถือว่าหนี้เป็นอันระงับด้วยเกลื่อนกลืนกันไปตามมาตรา353โดยโจทก์และจำเลยไม่ต้องมีการตกลงกันหรือแสดงเจตนาต่อกันเมื่อคำมั่นในการซื้อขายเกิดเป็นสัญญาและสิทธิจะเก็บค่าเช่าจากที่พิพาทของจำเลยระงับแล้วจึงไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าคำมั่นในการซื้อขายขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา569และตกเป็นโมฆะ คำมั่นจะขายที่ดินพิพาทกำหนดราคาซื้อขายกัน25,000,000บาทโดยไม่มีข้อความระบุว่าการจดทะเบียนการโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์จะต้องติดจำนองไปด้วยหรือไม่ดังนั้นการที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์จำเลยมีข้อตกลงให้โอนที่พิพาทโดยไม่ติดจำนองจึงเป็นการนำสืบว่ามีข้อตกลงในเรื่องการโอนที่พิพาทต่างหากจากคำมั่นจะขายอีกส่วนหนึ่งถือไม่ได้ว่าเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมหรือแก้ไขคำมั่นจะซื้อขายที่พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4530

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4530/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1169 วรรคแรก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55ฐ, 142 (5), 246, 247

โจทก์กล่าวมาในฟ้องแต่เพียงว่าตั้งแต่ป. ถึงแก่ความตายจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้นได้เรียกให้ผู้จัดการมรดกของป.ส่งทรัพย์สินต่างๆคืนให้แก่บริษัทตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องแต่อย่างใดโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวหาได้ไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 453, 456

แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อเวลาออกอากาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงและจำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์โดยจำเลยตกลงซื้อเวลาออกอากาศที่สถานีวิทยุกระจายเสียงดังกล่าวก็ตามแต่การตกลงเช่นนั้นไม่ใช่สัญญาซื้อขายทรัพย์เพราะไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินคงเป็นเพียงสัญญาที่ตกลงให้บริการการออกอากาศกระจายเสียงในสถานีวิทยุกระจายเสียงตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันเท่านั้นกรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา456วรรคสองและวรรคสามแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การที่โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดมาแสดงไม่มีการวางประจำหรือไม่ได้ชำระหนี้บางส่วนไม่เป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5754

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5754/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 26

คำฟ้องโจทก์ระบุโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่2ในฐานะผู้ว่าราชการจำเลยที่1ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินของโจทก์และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนฯพ.ศ.2531โดยระบุเน้นให้รู้ว่าในขณะนั้นจำเลยที่2ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจำเลยที่1คำฟ้องโจทก์มิได้บ่งบอกว่าโจทก์ประสงค์จะฟ้องจำเลยที่2ให้รับผิดเป็นการส่วนตัวแต่ประการใดโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่2ในฐานะผู้ว่าราชการจำเลยที่1 ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในทำเลที่เจริญการคมนาคมสะดวกสามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เพียงตารางวาละ10,000บาทย่อมไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ผู้ต้องถูกเวนคืนที่ดินไปทั้งแปลงที่ศาลล่างกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มให้แก่โจทก์อีกตารางวาละ10,000บาทนับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมต่อโจทก์แล้ว เมื่อจำเลยที่1และที่2ต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา26วรรคสุดท้ายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ7.5ต่อปีตามคำขอของโจทก์โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวมีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายพิเศษให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นจะนำมาตรา224แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5739

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5739/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145, 249 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 9, 153

ปัญหาว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้แน่นอนหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามมิได้ให้การไว้และมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในชั้นศาลอุทธรณ์ก็ยกขึ้นฎีกาได้ หนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามล้มละลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจำเลยทั้งสามให้การยอมรับว่าเป็นหนี้ดังกล่าวจริงจึงผูกพันจำเลยทั้งสามและหนี้นั้นสามารถคิดคำนวณเป็นจำนวนแน่นอนได้จึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนโดยไม่จำต้องมีพยานบุคคลมาเบิกความประกอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5738/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/30, 193/34 (7)

โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการให้บริหารสินเชื่อบัตรเครดิตให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์และสมาชิกของโจทก์สามารถนำบัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปใช้บริการเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าจากธนาคารโจทก์ได้การให้บริการดังกล่าวแก่สมาชิกของโจทก์โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วยโจทก์จึงเป็นผู้ค้ารับทำการงานต่างๆให้แก่สมาชิกและการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ2ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/34(7)จำเลยชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่24มกราคม2537อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่31มกราคม2539พ้นกำหนด2ปีแล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

« »
ติดต่อเราทาง LINE