คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6361

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6361/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271, 296 จัตวา (3)

จำเลยทำสัญญาให้โจทก์ก่อสร้างตึกแถวบนที่ดินจำเลยเมื่อก่อสร้างเสร็จจำเลยยอมให้โจทก์จัดหาบุคคลมาเช่าตึกแถวดังกล่าวมีกำหนด30ปีต่อมาผู้ร้องได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัดค. ตัวแทนโจทก์มีกำหนด30ปีโดยผู้ร้องได้จ่ายเงินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดค. ไป300,000บาทแต่ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยมอบอำนาจให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดค. เป็นตัวแทนสัญญาเช่าดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยส่วนโจทก์ทำสัญญาก่อสร้างตึกแถวยกกรรมสิทธิ์ให้จำเลยแต่มีข้อกำหนดว่าการทำสัญญาเช่านั้นให้ทำโดยตรงกับจำเลยมีกำหนดการเช่า30ปีสัญญาเช่าต้องนำไปจดทะเบียนการเช่าดังนั้นการที่ผู้ร้องอาศัยอยู่ในตึกแถวห้องพิพาทโดยที่ยังไม่ได้ทำสัญญาเช่ากับจำเลยจึงถือว่าผู้ร้องอยู่โดยอาศัยสิทธิโจทก์ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชดใช้หรือชำระเงินให้แก่จำเลยเดือนละ68,000บาทจนกว่าโจทก์ทั้งสองและบริวารออกไปจากตึกแถวห้องพิพาทแม้มิได้มีข้อความใดๆให้ขับไล่โจทก์และบริวารก็ตามแต่ก็แสดงชัดเจนแล้วว่าโจทก์ทั้งสองและบริวารจะต้องออกจากตึกแถวห้องพิพาทดังนั้นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขับไล่ผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการบังคับคดีนอกเหนือคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6360

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6360/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

ในคดีร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกประเด็นแห่งคดีมีว่าสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้นที่ผู้คัดค้านอ้างว่าทรัพย์ตามคำร้องขอเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่ใช่ทรัพย์ของผู้ตายจึงเป็นเรื่องที่พิพาทกันเกี่ยวกับตัวทรัพย์ว่าเป็นมรดกหรือไม่ซึ่งไม่มีประเด็นในชั้นร้องขอจัดการมรดกข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นเรื่องนอกเหนือจากคำขอและนอกประเด็นชอบที่ผู้คัดค้านจะไปดำเนินคดีเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6300

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6300/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248 วรรคสาม

คดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติและบริวารจำเลยที่ถูกฟ้องขับไล่ที่ดินพิพาทมีราคา102,000บาทและโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยปีละ5,000บาทซึ่งโจทก์และจำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคสองเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยและมีคำสั่งให้ยกคำร้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคสามที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกาว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทได้เพราะผู้ร้องทั้งสองมิใช่บริวารของจำเลยแม้ว่าผู้ร้องทั้งสองจะยกข้อกฎหมายมาอ้างว่าผู้ร้องทั้งสองมีชื่อระบุในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ผู้ร้องทั้งสองย่อมมีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยในที่ดินพิพาทจำเลยไม่่อาจต่อสู้คดีแทนผู้ร้องทั้งสองได้และโจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้ร้องทั้งสองเป็นจำเลยจึงไม่อาจบังคับขับไล่ผู้ร้องทั้งสองได้นั้นก็เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยข้อเท็จจริงถือว่าเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4795

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4795/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 900, 904 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94, 142, 172

โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาโดยมีมูลหนี้ที่ป. จะต้องชำระให้แก่โจทก์จริงโจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบจำเลยในฐานะทายาทป. ผู้สั่งจ่ายเช็คจึงต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์แม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบว่าป. สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวจะแตกต่างไปจากคำฟ้องที่ระบุว่าสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าที่ดินไปบ้างก็เป็นเพียงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดของมูลหนี้ที่นำมาสู่การสั่งจ่ายเช็คพิพาทเท่านั้นแต่ก็เป็นเหตุที่ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบเช่นเดียวกันทั้งโจทก์ก็ฟ้องโดยมุ่งประสงค์ให้จำเลยรับผิดตามเช็คที่ป.เป็นผู้สั่งจ่ายเป็นสำคัญมิได้มุ่งให้รับผิดในมูลหนี้ซื้อขายที่ดินโดยตรงจึงไม่ถึงกับทำให้คดีของโจทก์เสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6359

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6359/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 425

แม้ผู้ตายจะขับรถในความครอบครองของจำเลยที่ 4 เดินทางกลับ จากไปราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเสร็จแล้วหลังจากนั้นผู้ตายได้ขับรถออกไปรับประทานอาหารและส่งเพื่อนจนเกิดอุบัติเหตุชนกับรถบรรทุกตอนขากลับ ซึ่งผู้ตายยังต้องนำรถไปเก็บที่สำนักงานของจำเลยที่ 4 ถือว่าการกระทำของผู้ตายยังอยู่ในระหว่างปฏิบัติตามหน้าที่การงาน จำเลยที่ 4จึงต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่ผู้ตายได้ก่อขึ้นต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6352

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6352/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 156

โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 จำนวนหนึ่ง จึงมอบ น.ส.3ของที่ดินพิพาทและลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1ยึดถือไว้ แต่ก็ได้แสดงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและไม่เคยมอบอำนาจให้ผู้ใดขายที่ดินพิพาท การที่มีการกรอกข้อความในหนังสือ มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3จึงเป็นการกรอกข้อความโดยปราศจากอำนาจและเป็นเอกสารปลอม ต้องถือว่านิติกรรมซื้อขายมิได้เกิดขึ้น สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ยังเป็นของโจทก์ประกอบกับสามีจำเลยที่ 1 เป็นพี่เขย ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 3 ย่อม รู้ว่าโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ขายที่ดินพิพาท ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6350

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6350/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177 วรรคสาม

ฟ้องแย้งของจำเลยตั้งประเด็นว่าโจทก์กระทำการล่าช้าอันเป็นการผิดข้อตกลงต่อจำเลยทำให้บริษัทโซล่าการ์ดจำกัดแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเลิกสัญญากับบริษัทโซล่ากรุ๊ปจำกัดที่จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นคนละเรื่องกับฟ้องโจทก์ที่ตั้งประเด็นว่าจำเลยผิดสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับขอให้บังคับจำนองฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมเป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา177วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6348

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6348/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (11), 172 พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 8 วรรคสอง, 13, 18

ผู้ที่จะเป็นคู่ความในคดีได้นั้นจะต้องเป็นบุคคลดังกล่าวไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา1(11)และคำว่าบุคคลนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสำหรับการจะมีขึ้นได้ซึ่งนิติบุคคลนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา65ให้มีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นเมื่อไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่1เป็นนิติบุคคลส่วนอำเภอเมืองชลบุรีจำเลยที่1จึงเป็นเพียงส่วนราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีมิใช่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลโจทก์จึงไม่สามารถฟ้องจำเลยที่1ได้ ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ตัวแทนเชิดของนิติบุคคลเป็นนิติบุคคลตามนิติบุคคลตัวการไปด้วยดังนั้นแม้จำเลยที่1เป็นตัวแทนเชิดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นนิติบุคคลก็ตามจำเลยที่1การหาใช่เป็นนิติบุคคลตามตัวการด้วยไม่ โจทก์บรรยายฟ้องไปตามใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดที่โจทก์ได้รับมายอดเงินภาษีโรงเรือนพิพาทที่โจทก์จะต้องชำระตามใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่2ก็ลดลงจากเดิม2,608,121บาทเหลือ1,593,190บาทส่วนค่ารายปีที่จำเลยที่2แจ้งมาจะมีจำนวน509,823,175บาทตามสำเนาใบแจ้งคำชี้ขาดเอกสารท้ายฟ้องหรือไม่เป็นแต่เพียงรายละเอียดที่คู่ความสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม การกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1และการพิจารณาชี้ขาดของจำเลยที่2มิได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา8วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ.2475อีกทั้งไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สินลงวันที่30มีนาคม2535ที่ว่ากรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินการเองหรือด้วยเหตุประการอื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สินขนาดพื้นที่ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์แต่ได้นำหลักเกณฑ์มูลค่าทรัพย์สินมาเป็นเกณฑ์ประเมินการกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1และคำชี้ขาดของจำเลยที่2จึงมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของบทกฎหมายดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ กองดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อนำไปใช้วัดภาวะเงินเฟ้อและภาวะค่าครองชีพของประชาชนในประเทศและมีหน่วยงานทางราชการหลายแห่งได้นำไปใช้ประมาณการในการจัดเก็บภาษีโดยนำไปประเมินรายได้ของรัฐบาลวิธีการหาข้อมูลเพื่อนำมาทำดัชนีราคาผู้บริโภคจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจจัดเก็บข้อมูลเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็เอาข้อมูลมาคำนวณเพื่อทำดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นรายเดือนและรายปีและมีการเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของดัชนีที่คำนวณได้นั้นในปีปัจจุบันและปีที่แล้วมาโดยเปรียบเทียบออกมาเป็นอัตราส่วนร้อยละด้วยดังนั้นการที่โจทก์นำเอาดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นข้อมูลของทางราชการมาเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ล่วงแล้วนั้นย่อมเป็นวิธีการที่ถือว่าเหมาะสมและมีเหตุอันสมควร จำเลยที่1เป็นเพียงส่วนราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่1ศาลจึงไม่อาจบังคับตามคำขอของโจทก์ให้จำเลยที่1คืนเงินภาษีโรงเรือนพิพาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้ส่วนจำเลยที่2ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีนั้นจำเลยที่2เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีในฐานะเป็นผู้ชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์ตามกฎหมายไม่ปรากฏว่าจำเลยที่2รับชำระภาษีไว้จำเลยที่2จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีคืนภาษีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีรับไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 335, 336 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14, 31 วรรคสอง

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์และทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสองกรรมแยกต่างหากจากกันแต่เมื่ออ่านรวมกันแล้วได้ความว่าจำเลยเข้าไปตัดต้นยูคาลิปตัสในเขตป่าสงวนแห่งชาติจำนวน38ต้นแล้วทอนออกเป็นท่อนได้250ท่อนและใช้รถยนต์บรรทุกออกจากป่าในวันเวลาเดียวกันไม้ที่จำเลยตัดฟันและลักเอาไปจึงเป็นไม้จำนวนเดียวกันและได้กระทำคราวเดียวพร้อมกันต่อเนื่องกันไปโดยมีเจตนาเพียงเพื่อประสงค์ต้องการไม้เท่านั้นจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ.2507มาตรา14,31วรรคสองซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5987

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5987/2539

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 4

จำเลยทั้งสองห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คโดยเข้าใจว่ามีสิทธิหักกลบลบหนี้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดท.เนื่องจากโจทก์มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องรับรู้หนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดท.จะต้องชดใช้ให้แก่จำเลยทั้งสองดังนี้ย่อมมิใช่เป็นการกระทำโดยทุจริตจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา4(5)

« »
ติดต่อเราทาง LINE