คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6847/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1387
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1387ไม่ได้แยกเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือที่ดินมีโฉนดให้มีผลแตกต่างกันหากแต่บัญญัติไว้ว่าอสังหาริมทรัพย์อาจตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นดังนี้แม้ที่ดินของจำเลยจะเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แต่ก็เป็นอสังหาริมทรัพย์จึงย่อมตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโจทก์ซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เหมือนกับที่ดินของจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6843/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 180, 181, ตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.
คดีนี้ไม่มีการชี้สองสถานและการสืบพยานเนื่องจากศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย ดังนั้นตราบใดที่ศาลชั้นต้นยังมิได้พิพากษา ถือว่าอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยที่ 2แก้ไขคำให้การได้ หาเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 180 ไม่ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติตาม ป.วิ.พ.มาตรา 181 ซึ่งหมายถึงให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 2 เสียใหม่นั้น เมื่อโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำให้การทั้งสองครั้งและมีโอกาสคัดค้านทั้งในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาจึงเห็นควรสั่งคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 2 ไปเสียทีเดียว โดยไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอีก และเมื่อจะต้องรับคำร้องขอแก้ไขคำให้การและดำเนินคดีต่อไปเช่นนี้แล้ว ก็เป็นอันยังไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งโจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ตามคำขอท้ายฟ้อง ศาลอุทธรณ์ก็ยังไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีเช่นเดียวกัน ดังนั้น ที่จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดี และโจทก์ก็เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีเช่นเดียวกัน จึงเป็นการเสียค่าขึ้นศาลเกินมา ซึ่งที่ถูกจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงชั้นศาลละ 200 บาท เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6842/2539
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าอิฐแดงย่อมพอฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้ออิฐแดงแก่โจทก์นั่นเองอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายอยู่ในตัวเข้าองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534มาตรา4แล้วโจทก์หาจำต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อความว่า"จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย"อันเป็นถ้อยคำตามตัวบทกฎหมายดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาไม่และปัญหาตามที่จำเลยยกขึ้นฎีกานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จำเลยก็ยกขึ้นฎีกาในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา195วรรคสองประกอบด้วยมาตรา225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6810/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 58 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 192
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา58วรรคหนึ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่10)พ.ศ.2532มาตรา4เมื่อจำเลยแถลงรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยเคยต้องโทษตามคดีอาญาอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้นจริงและคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์พิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยฐานมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจำคุก6เดือนโดยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา56และในระหว่างที่ยังไม่ครบ2ปีจำเลยได้มากระทำความผิดคดีนี้เช่นนี้แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษคดีนี้แต่เป็นกรณีที่ความปรากฎแก่ศาลเองจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติทั้งจำเลยก็ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วข้างต้นศาลจึงต้องนำโทษที่รอไว้ในคดีอาญาเรื่องนั้นของศาลชั้นต้นมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6808/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 618
องค์การคลังสินค้าได้สั่งซื้อสินค้าปูนซีเมนต์จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ขายได้ว่าจ้างบริษัทซ. เป็นผู้ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทยโดยเรือเดินทะเลเมื่อเรือบรรทุกสินค้าปูนซีเมนต์มาถึงท่าเรือกรุงเทพและจอดเรือรอขนถ่ายปลดเปลื้องสินค้าองค์การคลังสินค้าได้ว่าจ้างจำเลยที่2ขนถ่ายสินค้าโดยเรือฉลอมจากเรือเดินทะเลมายังคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้าบริษัทซ.ไม่ใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่2ให้ขนถ่ายสินค้าจำเลยที่2จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลแต่จำเลยที่2ต้องรับผิดต่อองค์การคลังสินค้าตามสัญญาว่าจ้างที่ทำไว้กับองค์การคลังสินค้าเมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยการขนส่งสินค้าได้ชำระค่าเสียหายให้แก่องค์การคลังสินค้าแล้วโจทก์จึงรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่2ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6806/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 58 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 176
จำเลยให้การแต่เพียงว่าจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาโดยจำเลยมิได้ให้การว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบหรือแสดงหลักฐานในเรื่องดังกล่าวให้รับฟังเป็นความจริงได้จึงไม่อาจนำโทษในคดีก่อนที่รอการลงโทษไว้มาบวกกับโทษของจำเลยในคดีนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 248 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 100, 107, 153
คดีล้มละลายในชั้นขอรับชำระหนี้ถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนหนี้ที่ขอรับชำระถ้ามีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153 แม้ตามบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินค้านหลังคำขอรับชำระหนี้ปรากฎอยู่ในช่องหลักฐานประกอบหนี้ระบุว่าจำนวนเงิน104,000บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5ต่อปีนับแต่วันที่5กุมภาพันธ์2534จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตามแต่ในช่องรายการเจ้าหนี้คงระบุแต่เพียงว่าค่าซื้อสินค้าและในช่องจำนวนเงินก็ระบุจำนวน104,000บาทเท่านั้นโดยหาได้ระบุคำนวณจำนวนดอกเบี้ยไว้ด้วยไม่เมื่อดอกเบี้ยก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เป็นหนี้ที่ขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา100การที่เจ้าหนี้มิได้ระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ขอรับชำระหนี้มาเช่นนี้จึงไม่อาจถือว่าเจ้าหนี้ได้ขอรับชำระค่าดอกเบี้ยด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ด้วยจึงเกินคำขอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 146, 249 วรรคสอง
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องอ้างหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทลงวันที่24มิถุนายน2535แต่ปรากฎว่าหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นคู่ฉบับเก็บไว้ฝ่ายละฉบับกลับลงวันที่21มิถุนายน2535เห็นได้ว่าเป็นสัญญาคนละฉบับกับที่ฟ้องฟ้องจึงเคลือบคลุมนั้นเมื่อจำเลยให้การมิได้อ้างเหตุนี้ว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุมจำเลยเพิ่มจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคสองศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในส่วนฟ้องแย้งเพราะทุนทรัพย์ตามฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกิน200,000บาทและคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวขัดกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเมื่อเป็นเช่นนี้ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา146วรรคแรกโดยถือตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6778/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296 จัตวา
แม้อ. บิดาผู้ร้องจะเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยและมีหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลยซึ่งผู้ร้องจะมีสิทธิรับมรดกของอ. ก็ตามแต่จำเลยก็เป็นนิติบุคคลซึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นการรับมรดกของอ. ในหุ้นบริษัทจำเลยของผู้ร้องจึงหาก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ร้องจะอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยไม่ เมื่อผู้ร้องเข้ามาอาศัยอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทก็โดยอาศัยสิทธิของอ. ซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลยและไม่มีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทต่อไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6760/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/14, 194
จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในการที่ไฟไหม้อาคารและทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย จึงไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ก็หามีผลให้จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่เพราะเป็นการรับสภาพหนี้โดยปราศจากมูลหนี้ที่จะให้รับสภาพหนี้จึงไม่มีผลบังคับแก่กันได้