คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 320, 807, 810, 812 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 182, 183, 225

ตามคำให้การของจำเลย จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิที่จะนำใบหุ้นที่ซื้อในวันอื่นส่งมอบให้โจทก์แทนได้ ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ และจำเลยจัดซื้อหุ้นให้โจทก์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2521 จริงหรือไม่ ต่อมาได้เพิ่มประเด็นพิพาทอีกข้อหนึ่งว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่และก่อนมีการสืบพยาน ศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า คู่ความมีประเด็นโต้เถียงกันเพียงว่าหุ้นตามใบหุ้นและเลขที่ตามหนังสือที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ไปรับใบหุ้นนั้น จำเลยได้มีการซื้อผ่านตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2521 หรือไม่ โดยโจทก์ว่าไม่มีการซื้อในวันดังกล่าว จำเลยว่ามีการซื้อในวันดังกล่าวจริง คดีหาได้มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยมีสิทธิจะนำใบหุ้นที่ซื้อในวันอื่นส่งมอบให้โจทก์แทนได้หรือไม่แต่อย่างใด ดังนั้นในชั้นอุทธรณ์ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่จำเป็นต้องส่งมอบใบหุ้นที่ซื้อในวันที่ 27 พฤศจิกายน2521 โดยมอบใบหุ้นที่ซื้อในวันอื่นให้โจทก์แทนได้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ตั้งประเด็นและวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225

ในประเด็นที่โต้เถียงกันตามที่ศาลชั้นต้นได้จดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา.โจทก์จำเลยมิได้ตกลงท้ากันให้เป็นข้อแพ้ชนะกันในคดี และยังมีประเด็นในข้ออื่นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยต่อไปอีก ศาลจึงพิพากษาคดีให้ผู้ที่เป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นดังกล่าวเป็นผู้แพ้คดีหาได้ไม่

โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่การชำระหนี้ไม่ถูกต้องหรือผิดนัดตามสัญญาตัวแทน โจทก์เพียงแต่ฟ้องให้จำเลยคืนเงินค่าหุ้นที่จำเลยคิดเกินไปเท่านั้นโจทก์จึงถือเอาราคาหุ้นในวันที่จำเลยส่งมอบหุ้นให้โจทก์มาเป็นหลักคำนวณว่าจำเลยคิดเงินค่าหุ้นเกินไปหาได้ไม่

แม้จำเลยนำสืบรับฟังไม่ได้ว่าหุ้นที่จำเลยส่งมอบให้โจทก์ได้มีการซื้อในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2521 แต่ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ตามฟ้องที่ว่าจำเลยคิดเงินค่าหุ้นจากโจทก์เกินไปซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธนั้น ภาระการพิสูจน์ในข้อนี้ย่อมตกอยู่แก่โจทก์ โดยโจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าหุ้นที่จำเลยส่งมอบให้โจทก์นั้นได้มีการซื้อในวันที่เท่าใดแน่ และมีราคาซื้อขายกันเท่าใด เพื่อที่ศาลจะได้นำมาเป็นหลักในการวินิจฉัยว่าจำเลยในฐานะตัวแทนของโจทก์คิดเงินค่าหุ้นจากโจทก์เกินไปจริงหรือไม่ และเป็นหลักในการคำนวณว่าได้มีการคิดเงินค่าหุ้นเกินไปเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใดหรือไม่อย่างไรทั้งนี้ เพราะราคาหุ้นแต่ละวันมีการขึ้นลงไม่แน่นอนเมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าหุ้นที่จำเลยมอบให้โจทก์นั้นเป็นหุ้นที่ซื้อในวันที่เท่าใด และในวันนั้นมีราคาซื้อขายกันเท่าใด ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยคิดเงินค่าหุ้นจากโจทก์เกินไปจึงรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ม. ,

พนักงานเงินทดแทนมิได้สอบสวนหรือมีคำสั่งในกรณีที่ ป.ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากนายจ้างเกี่ยวกับโจทก์แต่อย่างใด เพราะไม่มีผู้ใดกล่าวอ้างว่าโจทก์ต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทนรายนี้ด้วย โจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอก มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จำเลยซึ่งเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเงินทดแทนของพนักงานเงินทดแทนจึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยและมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายหรือไม่จ่ายเงินทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 543/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ตำแหน่งผู้ว่าการประปานครหลวงซึ่งโจทก์เคยดำรงตำแหน่งอยู่มีสองฐานะคือในฐานะผู้มีอำนาจกระทำการแทนการประปานครหลวงซึ่งเป็นนิติบุคคล และได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนการประปานครหลวง จึงเป็นนายจ้างของพนักงานจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและอีกฐานะหนึ่งเป็นผู้ที่การประปานครหลวงจ้างเข้าทำงาน และโจทก์ตกลงทำงานให้แก่การประปานครหลวงเพื่อรับค่าจ้าง จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391

โจทก์ทำสัญญาจองห้องแถวกับจำเลย 6 ห้อง ชำระค่าก่อสร้างเป็นเงินสดและเช็ค เช็คบางฉบับขึ้นเงินไม่ได้ แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายผิดสัญญาเมื่อจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ จำเลยต้องคืนเงินค่าก่อสร้างที่ได้ชำระไว้แล้วให้โจทก์ เพื่อให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม หากจำเลยได้รับความเสียหายก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ แต่จำเลยก็มิได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย จึงไม่มีสิทธิริบเงินที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 569

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 569/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537

โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อสร้างตึกแถวและอาคารบ้านเรือน(ตลาดสด) ซึ่งตามสัญญาเช่าข้อ 7 ตึกแถว ฯ ที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้นให้โจทก์มีสิทธิให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ตามสัญญาข้อ 2 โดยข้อ 2 มีความว่า ยอมให้โจทก์เช่าที่ดินมีกำหนด 15 ปี เมื่อหมดสัญญา 15 ปีแล้ว ถ้าโจทก์ประสงค์จะเช่าต่อ ให้มาทำสัญญาใหม่ ถ้าไม่ทำสัญญาต่อโจทก์จะต้องส่งมอบสถานที่เช่าพร้อมตึกแถวฯ ให้แก่ผู้ให้เช่าจนครบถ้วนทุกอย่าง ดังนี้ มิใช่คำมั่นจะให้เช่า จำเลยหาจำต้องให้โจทก์เช่าที่พิพาทต่อไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีการเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 ม. ,

ลักษณะการจ่ายเงินค่าครองชีพซึ่งจ่ายเป็นรายเดือนโดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างพื้นฐานมีลักษณะเป็นการจ่ายประจำและแน่นอนเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้าง แม้จะจ่ายเพื่อช่วยเหลือในภาวะเศรษฐกิจที่มีค่าครองชีพสูงขึ้นก็ตามเงินค่าครองชีพก็เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง และไม่ใช่เงินประเภทเดียวกันกับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ซึ่งไม่ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง ดังนั้น เงินค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างอันต้องนำมาคำนวณเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนด้วย

ส่วนเงินรางวัลประจำปีหรือโบนัสนั้น คณะกรรมการบริษัทนายจ้างจะไม่อนุมัติให้จ่ายในปีใดก็ได้ ทั้งการจ่ายก็มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นรางวัลสำหรับความดีความชอบของลูกจ้างที่ทำงานมาด้วยดีและมีความประพฤติเหมาะสมเงินรางวัลประจำปีจึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน ไม่เป็นค่าจ้างอันจะนำมาคำนวณเงินสบทบกองทุนเงินทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177

จำเลยเคยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาข้อหาฉ้อโกงว่า โจทก์หลอกลวงให้จำเลยเช่าซื้อที่ดินที่โจทก์ไม่อาจจัดการโอนกรรมสิทธิ์ได้เพราะติดจำนองจำเลยได้เบิกความในคดีดังกล่าวว่าจำเลยชำระค่าเช่าซื้อครบแล้วแต่โจทก์ยังไม่จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เช่าซื้อให้จำเลย ดังนี้ ข้อสำคัญในคดีดังกล่าวมีว่า โจทก์ได้หลอกลวงให้จำเลยหลงเชื่อจึงเช่าซื้อที่ดินโจทก์หรือไม่คำเบิกความของจำเลยที่ว่าชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ถึงหากจะเป็นความเท็จก็มิใช่ข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 176

การฉ้อฉลหมายถึงนิติกรรมอันลูกหนี้ได้ทำลงโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 และบุคคลที่จะเป็นโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้คือเจ้าหนี้ หาใช่ตัวผู้ทำนิติกรรมนั้นเองไม่ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาแบ่งปันมรดกไปฟ้องคดีในอีกศาลหนึ่ง ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาแบ่งปันมรดกที่ตนได้ทำกับจำเลยไว้ แล้วทิ้งฟ้องจนศาลจำหน่ายคดีนั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นฟ้องนั้น และทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 และย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาแบ่งปันมรดกคดีนี้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1546 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ที่ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าวตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้นั้น หมายถึงบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นเมื่อคนต่างด้าวมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จึงไม่อาจถอนสัญชาติไทยของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 118, 537, 1476 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

ผู้ให้เช่าหาจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าเสมอไปไม่ เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าบ้านและที่ดินกับโจทก์ แล้วจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ จำเลยจะยกเหตุที่โจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่ามาเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้

ทรัพย์ที่โจทก์ให้เช่าเป็นของบุตรโจทก์ การฟ้องขับไล่จำเลยจึงไม่ใช่เป็นการจัดการสินสมรสของโจทก์กับสามีอันจะต้องทำร่วมกันตามป.พ.พ. ม.1476

กรณีจะเป็นนิติกรรมอำพรางได้จะต้องปรากฏว่า นิติกรรมที่อำพรางและนิติกรรมที่ถูกอำพรางคู่กรณีจะต้องเป็นบุคคลเดียวกันและต้องทำขึ้นในคราวเดียวกัน จำเลยนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปขายฝากโจทก์ร่วมโดยโจทก์เป็นผู้ลงชื่อรับซื้อฝากแทนโจทก์ร่วมต่อมาจำเลยไม่ได้ไถ่ภายในกำหนด ทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์ร่วมต่อมาจำเลยทำสัญญาเช่าจากโจทก์ สัญญาเช่านี้มิได้เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาไถ่ทรัพย์คืน แต่เป็นนิติกรรมที่โจทก์จำเลยมีเจตนาให้มีผลบังคับกันโดยแท้จริง มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

« »
ติดต่อเราทาง LINE