คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1005

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1005/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 166, 181, 185

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ นอกจากฝ่ายโจทก์ไม่มาศาลแล้วจำเลยบางคนไม่มาศาลเพราะยังส่งหมายเรียกให้ไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้แม้โจทก์และพยานจะมาศาลก็ไม่อาจสืบพยานโจทก์ได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งเลื่อนคดีไป ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา185 จึงไม่ถูกต้อง กรณีเป็นเรื่องโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด โจทก์ร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ประกอบด้วยมาตรา181 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 88, 198

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดภายในเวลา (15วัน) ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 นั้นมาตรานี้เพียงแต่ให้ศาลมีอำนาจจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งจำหน่าย โจทก์ยื่นคำขอเรื่องขาดนัดได้

โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งมาในสำนวนเดียวกันกับได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว โดยมิได้เจาะจงว่าจะให้เป็นบัญชีพยานในคดีส่วนอาญาหรือส่วนแพ่ง จึงต้องถือว่าเป็นบัญชีระบุพยานของคดีนี้ตลอดเรื่อง ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีระบุพยานส่วนอาญาฉบับหนึ่งและส่วนแพ่งอีกฉบับหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1045

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1045/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 172, 367, 420, 681

จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานธนาคารโจทก์จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินที่ผู้จัดการธนาคารสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปรับเงินฝากจากลูกค้าซึ่งการรับเงินดังกล่าวเป็นการที่จำเลยที่ 1 รับไว้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำมามอบให้พนักงานธนาคารโจทก์เพื่อนำเข้าบัญชีของลูกค้าซึ่งต่อมาโจทก์ได้ชดใช้เงินดังกล่าวให้แก่ลูกค้าไปแล้วดังนี้ แม้ขณะจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้โจทก์ยังมิได้ใช้เงินให้แก่ลูกค้าก็ตามโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้

สัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 เข้าทำงานที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์มีข้อความว่าถ้าธนาคารโจทก์รับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานไม่ว่าในหน้าที่หรือตำแหน่งใดแล้วหากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานบกพร่องต่อหน้าที่หรือประมาทเลินเล่อหรือกระทำการทุจริตหรือก่อหนี้สินผูกพันกับธนาคารโจทก์อันทำให้ธนาคารโจทก์ได้รับความเสียหายไม่ว่ากรณีใดที่กล่าวมาจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ธนาคารโจทก์โดยตรงและทันทีทุกกรณีภายในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นพนักงานขับรถยนต์ของธนาคารโจทก์แต่เมื่อโจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ไปรับเงินจากลูกค้าเพื่อนำฝากเข้าบัญชีของลูกค้าจำเลยที่ 1 ก็มีหน้าที่จะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาฝากเข้าบัญชีลูกค้าเมื่อจำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินนั้นไปจำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดต่อธนาคารตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75, 78, 820 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 59 (1), 249

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งสินค้าของโจทก์มาจำหน่ายยังค้างชำระราคาสินค้าโจทก์อยู่ จำเลยที่ 1ปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งซื้อ จำเลยที่ 2 ให้การว่าได้สั่งซื้อในนามของจำเลยที่ 1 ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินค้าที่ค้างชำระจำนวนหนึ่งแก่โจทก์จำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา คดียุติชั้นศาลอุทธรณ์ จำเลยที่1 จะฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ค้างชำระค่าสินค้าโจทก์อยู่เพียง2 หมื่นบาทเศษ หาได้ไม่ เพราะตนมิได้ต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ

จำเลยที่ 2 ติดต่อสั่งซื้อสินค้าหลายรายการหลายครั้งจากโจทก์ขณะเป็นผู้จัดการจำเลยที่ 1 และได้กระทำในนามของจำเลยที่ 1 โดยลงชื่อในตำแหน่งผู้จัดการจำเลยที่ 1กับได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในเอกสารต่างๆทุกฉบับ ถือว่าได้ซื้อในนามหรือแทนจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่จะต้องชำระราคาที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จะยกเอาคำสั่งภายในที่โจทก์ไม่รู้มายันโจทก์เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

หมายเหตุในใบส่งของของโจทก์ระบุให้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกรุงเทพนั้นเป็นข้อความที่โจทก์พิมพ์ไว้แต่ฝ่ายเดียวไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ตกลงด้วย จึงไม่ใช่ข้อตกลงที่จะผูกพันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา7(4) โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนครปฐมซึ่งจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจได้ตามมาตรา 4(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 401

การที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยไปนั้นแม้จำเลยจะไม่ได้มอบหมายให้จัดการชำระหนี้แทนก็ตามแต่ก็เป็นผลทำให้หนี้ของจำเลยระงับไปจำเลยหลุดพ้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกและอาจนำรถเข้าวิ่งร่วมกับบุคคลภายนอกได้ตามข้อตกลงต่อไปเช่นนี้ เป็นการสมประโยชน์ของจำเลยซึ่งเป็นตัวการเพราะต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการหรือต้องตามความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้กรณี จึงเป็นเรื่องจัดการงานนอกสั่งโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินที่ออกทดรองคืนได้ตามมาตรา401

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1039

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038 - 1039/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 850, 1055, 1061

โจทก์จำเลยร่วมกันเข้าหุ้นจัดทำศูนย์การค้าปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ขายแต่การดำเนินงานระหว่างห้างหุ้นส่วนเกิดขัดข้องไม่อาจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีจำเลยจึงขอให้กำหนดข้อยุติเกี่ยวกับเรื่องหุ้นส่วนและได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเช่นนี้ ข้อตกลงเรื่องเลิกห้างหุ้นส่วนถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 การที่หุ้นส่วนทุกคนตกลงเลิกห้างหุ้นส่วนย่อมกระทำได้ไม่อยู่ในบังคับ มาตรา 1055,1056 และ 1057 เมื่อได้ตกลงให้จัดการทรัพย์สินอย่างไรด้วยแล้วก็ไม่ต้องชำระบัญชีตาม มาตรา 1061

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1375

การเอาขยะไปถมที่ดินโจทก์โดยมิได้เข้าไปครอบครองไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1024

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1024/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกและขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์เรียกค่าเสียหายเดือนละ 500 บาทจำเลยให้การว่าเป็นที่ทางราชการหวงห้ามมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ถือว่าเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แม้โจทก์จะมีคำขอเรียกค่าเสียหายมาด้วยก็ตามศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาทางอาญาให้ขับไล่จำเลยและใช้ค่าเสียหายเดือนละ 30 บาท จำเลยอุทธรณ์ได้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174 (2)

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งหมายเรียกให้จำเลยแก้คดีภายใน 7 วัน กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ลงชื่อทราบไว้แล้ว โจทก์ไม่นำส่งหมายเรียกภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดี โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนหรือพิจารณาคดีใหม่ว่าไม่ได้จงใจทิ้งฟ้องหลังจากวันที่ศาลสั่งให้นำส่งหมายเรียกถึง 34 วันข้ออ้างตามคำร้องของโจทก์ฟังไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องไต่สวน

การที่ทนายจำเลยมาศาลและลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำส่งหมายเรียกนั้น เมื่อจำเลยไม่มาศาลในวันนั้น โจทก์ก็ต้องนำส่งหมายเรียกตามคำสั่งศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299, 1301, 1357

ผู้ร้องอ้างว่าได้จดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยในที่ดินพิพาทโดยผู้ร้องตกลงกันเองกับจำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทและครอบครองกันเป็นส่วนสัดเป็นเรื่องกล่าวอ้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สิทธิโดยผู้ร้องได้ที่ดินส่วนแบ่งมาโดยนิติกรรมซึ่งเมื่อไม่ปรากฏว่านิติกรรมแบ่งแยกที่ดินพิพาทได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่การได้ที่ดินส่วนของผู้ร้องจึงไม่ บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299

« »
ติดต่อเราทาง LINE