คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1328/2522
ประมวลรัษฎากร ม. 30, 52, 54
กรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ได้หักและนำส่งเงินภาษีเงินได้ของลูกจ้าง หรือหักและนำส่งเงินภาษีเงินได้ของลูกจ้างแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง โจทก์จะต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในภาษีเงินได้ที่ไม่ได้หักหรือนำส่งตามจำนวนที่ขาดแล้วแต่กรณีตามประมวลรัษฎากร มาตรา54 วรรคแรก จึงถือได้ว่าโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีเช่นเดียวกับลูกจ้างของโจทก์ ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่ม หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งตามมาตรา 30 เสียก่อน โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่ได้อุทธรณ์การประเมินเสียก่อนย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 27, 60, 61
ฎีกาของจำเลยมี ล. ทนายความลงชื่อในฐานะทนายจำเลยพฤติการณ์น่าเชื่อว่า จำเลยได้แต่ง ล. เป็นทนายความของจำเลยในคดีนี้แล้วจริง เมื่อปรากฏว่าใบแต่งทนายความสำหรับ ล. ไม่มีอยู่ในสำนวน ศาลก็มีอำนาจที่จะอนุญาตให้แก้ไขจัดทำเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เมื่อจำเลยได้แต่ง ล. เข้ามาภายหลังแล้ว ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยฎีกาจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 183
คู่ความท้ากันให้ อ. เป็นพยานคนกลางสาบานตนเบิกความต่อศาลว่า ที่พิพาททั้งสามแปลงเป็นของโจทก์หรือของจำเลยหาก อ. เบิกความสมฝ่ายใด ให้ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะคดี ดังนี้ เมื่อ อ. พยานคนกลางเบิกความว่า จำเลยได้ร่วมทำกินในที่พิพาททั้งสามแปลงกับมารดาและพี่น้องของจำเลย จำเลยเป็นผู้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้อง จึงเป็นคำเบิกความที่เจือสมฝ่ายจำเลย โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี โจทก์จะอ้างว่าคำเบิกความของพยานคนกลางไม่ตรงกับข้อกฎหมายเรื่องการครอบครองจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นผู้ครอบครอง จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทและเอกสาร ส.ค.1 ที่จำเลยอ้างส่งเป็นพยานไม่ถูกต้องเลอะเลือน นั้น ไม่ได้ เพราะเป็นการนอกคำท้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1172, 1175, 1178
จำเลยกับพวกผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ขึ้น โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะประธานกรรมการของบริษัท ได้ทำหนังสือเรียกประชุมผู้ถือหุ้น กำหนดวันประชุม แล้วจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน และเมื่อถึงวันนัดประชุม ได้มีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุม 24 คน ซึ่งรวมจำนวนหุ้นแล้วมีจำนวน 64 หุ้น อันมีจำนวนหุ้นเกินกว่าหนึ่งในสี่แห่งทุนของบริษัท ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 100 หุ้น ดังนี้ การประชุมใหญ่ที่จำเลยกับพวกจัดขึ้นเป็นไปตามขั้นตอนถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1172,1175 และ 1178 แล้ว การประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติอย่างไรไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัทแล้ว มตินั้นย่อมเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1321/2522
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 223, 249 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 119, 145 (4)
ปัญหาเรื่องอายุความ ผู้ร้องมิได้กล่าวแก้เป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ เมื่อผู้ร้องฎีกาในปัญหาเรื่องอายุความศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัยให้
พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 119 วรรค 3 ไม่ได้บัญญัติว่าคำสั่งของศาลที่จำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ให้เป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นคู่ความ ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 145(4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1320/2522
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515
งานทำความสะอาดร้านตัดผมและเก็บเงินจากลูกค้าที่ ล.ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างนั้น เป็นงานเกี่ยวกับร้านตัดผมที่จำเลยประกอบกิจการอยู่ โดยเฉพาะหน้าที่เก็บเงินจากลูกค้าที่มาตัดผม ย่อมเห็นได้ว่าไม่เกี่ยวกับงานบ้าน กรณีถือไม่ได้ว่า ล. เป็นลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ล. จึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2522
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ม. 7, 9 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2517 ม. 5 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 7
ในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่มีการจับกุมตัวผู้ต้องหา ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2517 มาตรา 5 และไม่มีกรณีจะต้องขอรับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ ในการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 ดังที่มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวกำหนดไว้ด้วย
กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไม่มีการจับกุม เพราะนิติบุคคลไม่อยู่ในสภาพที่จะให้จับกุมได้ คงให้ใช้วิธีออกหมายเรียกผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลมาเพื่อการสอบสวนหรือพิจารณา แล้วแต่กรณี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1317/2522
พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 ม. 5, 30 พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2497 ม. 4 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158
โจทก์ฟ้องจำเลยฐานทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 มาตรา 5 มีโทษตามมาตรา 30 โดยมิได้ระบุว่า เป็นสุราแช่หรือมิใช่เป็นการกล่าวถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดรวมทั้งสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยถูกต้องครบถ้วน ตามที่มาตรา 5 บัญญัติไว้ และพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่เป็นเหตุขัดข้องในการกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 30 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1381
จำเลยทำนาของโจทก์ต่างดอกเบี้ย โจทก์ขอไถ่ จำเลยไม่ให้ไถ่อ้างว่าเป็นการขายขาด ดังนี้ เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือที่ดินแทนโจทก์ โจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนใน 1 ปี หมดสิทธิตาม มาตรา1375
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1315/2522
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 215, 380, 467
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเบี้ยปรับตามสัญญาในกรณีที่จำเลยผิดสัญญา ไม่ส่งมอบเครื่องรับส่งวิทยุตามที่ตกลงซื้อขายกัน เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าในสัญญา หาใช่เป็นการฟ้องให้รับผิดในการส่งมอบทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวน ซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 ไม่