Banner blog website1.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-19

ภาค ๓ บทกำหนดโทษ (มาตรา ๑๒๔ - ๑๘๖)

 

ลักษณะ ๑
บทบัญญัติทั่วไป

(มาตรา ๑๒๔ - ๑๓๔)
 

-------------------------

               มาตรา ๑๒๔  ผู้ใดกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทํานอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่า
               (๑) ผู้กระทําความผิดหรือผู้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
               (๒) ผู้กระทําความผิดเป็นคนต่างด้าวและได้กระทําโดยประสงค์ให้ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักรหรือรัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหาย หรือ
               (๓) ผู้กระทําความผิดเป็นคนต่างด้าวและการกระทํานั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่การกระทําเกิดขึ้นในเขตอํานาจของรัฐนั้น หากผู้นั้นได้ปรากฏตัวอยู่ในราชอาณาจักร และมิได้มีการส่งตัวผู้นั้นออกไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
               ทั้งนี้ ให้นําความในมาตรา ๑๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๒๕  ในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
               (๑) สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทําความผิดก่อนหรือขณะกระทําความผิด
               (๒) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่ หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทําความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทําความผิดถูกลงโทษ
               (๓) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พํานัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทําความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทําความผิดพ้นจากการถูกจับกุม
               (๔) รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กระทําความผิดเพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทําความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทําความผิดถูกลงโทษ
               (๕) ปกปิด ซ่อนเร้น หรือเอาไปเสียซึ่งยาเสพติดหรือวัตถุใด ๆ ที่ใช้ในการกระทําความผิด เพื่อช่วยเหลือผู้กระทําความผิด
               (๖) ชี้แนะหรือติดต่อบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการกระทําความผิด
               ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พํานักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

               มาตรา ๑๒๖  ผู้ใดพยายามกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษตามที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดสําเร็จ

               มาตรา ๑๒๗  ผู้ใดสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้นั้นสมคบกันกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท
               ถ้าได้มีการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น
               ในกรณีที่การกระทําตามวรรคหนึ่งมีลักษณะเป็นการกระทําขององค์กรอาชญากรรม ผู้กระทําความผิดต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คําว่า “องค์กรอาชญากรรม” หมายความว่า คณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่รวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่งและร่วมกันกระทําการใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่น

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม

               มาตรา ๑๒๘  ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังบังคับ ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นกระทําความผิดฐานผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น

               มาตรา ๑๒๙  ผู้ใดยอมให้ผู้อื่นใช้ชื่อ เอกสาร หลักฐานของตน ในการเปิด จด หรือลงทะเบียนทําธุรกรรมทางการเงิน ซื้อสินค้าหรือบริการอื่นใด ยอมให้ใช้บัญชีธนาคาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซิมการ์ดโทรศัพท์ หรือยอมให้ผู้อื่นใช้สิ่งเช่นว่านั้น ซึ่งตนได้เปิด จด หรือลงทะเบียนไว้แล้ว โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๓๐  ผู้ใดรู้หรืออาจรู้ความลับในทางราชการเกี่ยวกับการดําเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ กระทําด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว เว้นแต่เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๓๑  ห้ามผู้ใดเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ซึ่งถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้มาโดยคำสั่งอนุญาตของศาลอาญาตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด เว้นแต่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามคําสั่งศาล
               ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําโดยกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. หรือเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้กระทําต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่ก้าหนดไว้ในวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๑๓๒  ผู้ใดกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดโดยแต่งเครื่องแบบหรือโดยแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นเจ้าพนักงาน ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานอื่นของรัฐ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้นอีกกึ่งหนึ่ง

               มาตรา ๑๓๓  ในกรณีที่ผู้กระทําผิดภาคนี้เป็นนิติบุคคล ต้องระวางโทษปรับสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น
               ถ้าการกระทําผิดของนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง เกิดจากการสั่งการหรือการกระทําของกรรมการหรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทําการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทําการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น

               มาตรา ๑๓๔  บรรดายาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ หรือประเภท ๕ วัตถุออกฤทธิ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่ก็ตาม
 

ลักษณะ ๒
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการอนุญาต
สำหรับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์
 

-------------------------

               มาตรา ๑๓๕  ผู้ควบคุมยานพาหนะผู้ใดไม่จัดให้มีการป้องกันตามสมควร เพื่อมิให้ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์สูญหายหรือมีการนําเอาไปใช้โดยมิชอบตามมาตรา ๓๓ (๒) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

               มาตรา ๑๓๖  ผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๖ ผู้ใดนําเข้าหรือส่งออกในแต่ละครั้งซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวในแต่ละครั้งที่นําเข้าหรือส่งออก ต้องระวางโทษปรับครั้งละไม่เกินห้าพันบาท

               มาตรา ๑๓๗  ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําของเจ้าของสื่อโฆษณาหรือผู้ประกอบกิจการโฆษณา ผู้กระทําต้องระวางโทษเช่นเดียวกันกับผู้โฆษณา
               ผู้กระทําความผิดซึ่งต้องรับโทษตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

               มาตรา ๑๓๘  ผู้ใดเปลี่ยนแปลงจุดหมายในการส่งวัตถุออกฤทธิ์อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง หรือไม่ส่งวัตถุออกฤทธิ์กลับคืนไปยังประเทศที่ส่งออกตามมาตรา ๔๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๓๙  ผู้ใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ อย. แปรรูปหรือแปรสภาพวัตถุออกฤทธิ์ให้เป็นอย่างอื่น หรือเปลี่ยนหีบห่อที่บรรจุวัตถุออกฤทธิ์โดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๔๐  ผู้ใดส่งวัตถุออกฤทธิ์ที่ได้รับอนุญาตนําเข้าไปยังบุคคลอื่นหรือสถานที่อื่นนอกเหนือไปจากที่ระบุในใบอนุญาตเฉพาะคราวเพื่อนําเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๔๑  ผู้ใดส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังประเทศที่ระบุห้ามนําเข้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากประเทศนั้นและใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากเลขาธิการ อย. อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๔๔ วรรคสอง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

ลักษณะ ๓
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
และวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ผิดมาตรฐาน หรือเสื่อมคุณภาพ
 

-------------------------

               มาตรา ๑๔๒  ผู้ใดผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ปลอม อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
               ผู้ใดจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ปลอม อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท

               มาตรา ๑๔๓  ผู้ใดผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ผิดมาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ผู้ใดจําหน่ายยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ผิดมาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๔๔  ผู้ใดนําเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือ ประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ เสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ผู้ใดจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ เสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

 

กษณะ ๔
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย
มีไว้ในครอบครอง หรือนำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์
 

-------------------------

               มาตรา ๑๔๕  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๐ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท
               (๑) การกระทําเพื่อการค้า
               (๒) การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน
               (๓) การจําหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี
               (๔) การจําหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ
               (๕) การกระทําโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย
               (๖) การกระทําโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต
               (๑) การกระทําโดยหัวหน้า ผู้มีหน้าที่สั่งการ หรือผู้มีหน้าที่จัดการในเครือข่ายอาชญากรรม
               (๒) การทําให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป

               มาตรา ๑๔๖  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือประเภท ๔ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๑ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเฉพาะยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ เป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
               (๑) การกระทําเพื่อการค้า
               (๒) การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน
               (๓) การจําหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี
               (๔) การจําหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ
               (๕) การกระทําโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย
               (๖) การกระทําโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ

               มาตรา ๑๔๗  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามแสนบาท

               มาตรา ๑๔๘  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
               (๑) การกระทําเพื่อการค้า
               (๒) การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน
               (๓) การจําหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี
               (๔) การจําหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ
               (๕) การกระทําโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย
               (๖) การกระทําโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ

               มาตรา ๑๔๙  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๔ ต้องระวางโทษตามที่กําหนดไว้ ดังต่อไปนี้
               (๑) วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
               (๒) วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท
               (๓) วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเฉพาะวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
               (๑) การกระทําเพื่อการค้า
               (๒) การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน
               (๓) การจําหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี
               (๔) การจําหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ
               (๕) การกระทําโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย
               (๖) การกระทําโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ
               ผู้ใดนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท

               มาตรา ๑๕๐  ผู้รับอนุญาตผู้ใดดําเนินการผลิตหรือจําหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ในระหว่างที่เภสัชกรมิได้อยู่ประจําควบคุมกิจการ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

               มาตรา ๑๕๑  ผู้ใดจําหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปหรือจําหน่ายวัตถุออกฤทธิ์และยารวมกันหลายขนาน โดยจัดเป็นชุดไว้ล่วงหน้า เพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๖ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๕๒  ความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายนี้ที่มีโทษจําคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจําคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคํานึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
               ถ้าศาลเห็นว่าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งของผู้ใดเมื่อได้พิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทําความผิด ฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทําความผิดและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว กรณีมีเหตุอันสมควรเป็นการเฉพาะราย ศาลจะลงโทษจําคุกหรือปรับน้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นก็ได้

               มาตรา ๑๕๓  ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทําความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สําคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจซึ่งเป็นผู้จับกุม หรือพนักงานสอบสวนในคดีนั้น เมื่อพนักงานอัยการระบุในคําฟ้องหรือยื่นคําร้องต่อศาล ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นก็ได้
               กรณีที่ผู้กระทําความผิดได้เคยให้ข้อมูลที่สําคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามวรรคหนึ่ง ถ้าพนักงานอัยการไม่ระบุในคําฟ้องหรือยื่นคําร้องต่อศาล ผู้กระทําความผิดนั้นอาจยื่นคําร้องต่อศาลตามมาตรานี้ได้

 

 

ลักษณะ ๕
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับสารระเหย
 

-------------------------

               มาตรา ๑๕๔  ผู้ใดผลิตหรือนําเข้าสารระเหย โดยก่อนนําออกจําหน่ายไม่จัดให้มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุสารระเหย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๗ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๕๕  ผู้ใดจําหน่ายสารระเหยโดยไม่มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความ ที่ผู้ผลิตหรือผู้นําเข้าสารระเหยต้องจัดให้มีที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุตามมาตรา ๙๗ อยู่ครบถ้วน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๘ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๕๖  ผู้ใดจําหน่ายสารระเหยแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๙ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๕๗  ผู้ใดจําหน่ายหรือจัดหาสารระเหยให้แก่ผู้ซึ่งตนรู้หรือควรรู้ว่าเป็นผู้ติดสารระเหย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๐ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการจําหน่ายหรือจัดหาสารระเหยให้แก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

 

ลักษณะ ๖
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนตำรับ
 

-------------------------

               มาตรา ๑๕๘  ผู้ใดแก้ไขรายการทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ไม่เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวงตามมาตรา ๔๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

               มาตรา ๑๕๙  ผู้รับใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับตามมาตรา ๔๙ ผู้ใดผลิตหรือนําเข้าตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ไม่ตรงตามรายการที่ได้ขึ้นทะเบียนตํารับไว้ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

               มาตรา ๑๖๐  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๔๙ แต่มิได้ขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๑  ผู้ใดผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๕๑ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท
               ผู้ใดจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๕๑ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามแสนบาท

 

ลักษณะ ๗
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการเสพยาเสพติด
และการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดเพื่อเสพ
 

-------------------------

               มาตรา ๑๖๒  ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ และมิใช่กรณีตามมาตรา ๑๑๓ หรือมาตรา ๑๑๔ อ้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๓  ผู้ใดเสพสารระเหย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๕ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๔  ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เพื่อเสพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๗ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๕  ในการพิจารณาและพิพากษาคดีตามลักษณะนี้ ให้ศาลมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยคำนึงถึงการสงเคราะห์ให้จําเลยเลิกเสพยาเสพติดโดยการบำบัดรักษายิ่งกว่าการลงโทษ หากจะลงโทษจําเลยก็ให้พิจารณาลงโทษให้เหมาะสมกับจําเลยแต่ละคน แม้จําเลยจะได้กระทําผิดร่วมกัน โดยคำนึงถึงความร้ายแรงตามลักษณะของความผิดที่แตกต่างกันในแต่ละคดี ผลร้ายแรงตามประเภทและปริมาณของยาเสพติดที่เกี่ยวพันกับผู้กระทําความผิด และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับผู้กระทําความผิด เช่น อายุ ประวัติ ความประพฤติ นิสัย สติปัญญา การศึกษาอบรม ภาระในการเลี้ยงดูครอบครัว การเสพเพื่อรักษาโรคบรรเทาความเจ็บปวด ความจําเป็นต้องเสพด้วยเหตุอื่น สภาพร่างกาย และสภาพจิตใจ สิ่งแวดล้อม การถูกบังคับขู่เข็ญหลอกลวงให้เสพยาเสพติด หรือตกเป็นเครื่องมือของผู้ค้ายาเสพติด หรือเหตุอันควรปรานีอื่นใด
               นอกจากนั้นการลงโทษควรได้คํานึงถึงชนิดของยาเสพติดที่เสพหรือครอบครองเพื่อเสพ จํานวนยาเสพติดที่เสพหรือครอบครองเพื่อเสพ การเสพยาเสพติดเป็นครั้งคราวหรือประจํา หรือเสพยาเสพติดเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานบางอย่าง
               ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งให้พนักงานคุมประพฤติแสวงหาข้อเท็จจริงตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบส่งคําสั่งศาลและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังสํานักงานคุมประพฤติภายในสามวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง เว้นแต่ศาลมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
               เมื่อสํานักงานคุมประพฤติได้รับคําสั่งตามวรรคสาม ให้พนักงานคุมประพฤติดําเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง แล้วทํารายงานและความเห็นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สํานักงานคุมประพฤติได้รับหนังสือ ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นพนักงานคุมประพฤติอาจร้องขอต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกินสิบห้าวัน

               มาตรา ๑๖๖  ในการพิจารณาพิพากษาผู้กระทําความผิดตามลักษณะนี้ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดําเนินคดีในความผิดอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจําคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจําคุกตามคําพิพากษาของศาล ให้ศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวมีอํานาจเปลี่ยนโทษจําคุกเป็นการใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา หรือนําเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติข้อเดียวหรือหลายข้อตามมาตรา ๕๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้แทนการลงโทษ ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกินกว่าสองปี
               หากเหตุที่ให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การกําหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

               มาตรา ๑๖๗  เมื่อความปรากฏแก่ศาลเองหรือความปรากฏตามคําแถลงของพนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่าผู้กระทําความผิดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังที่ศาลกําหนดตามมาตรา ๑๖๖ ศาลอาจตักเตือนผู้กระทําความผิด หรือกําหนดวิธีการตามมาตรา ๑๖๖ วรรคหนึ่ง เสียใหม่ หรือพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมต่อไป

               มาตรา ๑๖๘  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑๔ เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลว่าบุคคลใดกระทําความผิดตามลักษณะนี้ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดําเนินคดีในความผิดอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจําคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจําคุกตามคําพิพากษาของศาล ในกรณีที่ศาลเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรลงโทษจําเลย หากจําเลยสํานึกในการกระทําโดยตกลงเข้ารับการบำบัดรักษา เมื่อศาลสอบถามพนักงานอัยการแล้ว หากศาลเห็นสมควร ให้ส่งตัวจำเลยไปสถานพยาบาลยาเสพติดเพื่อเข้ารับการบําบัดรักษาต่อไป

               มาตรา ๑๖๙  เมื่อจําเลยเข้ารับการบําบัดรักษาและปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนด จนได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ผ่านการบําบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจจากหัวหน้าสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ศาลสั่งยุติคดี เว้นแต่จะต้องมีคําสั่งเกี่ยวกับของกลาง และให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๘
               ถ้าจําเลยไมให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษาจนครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนด ก็ให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาต่อไป

               มาตรา ๑๗๐  คําสั่งศาลตามมาตรา ๑๖๖ มาตรา ๑๖๘ และมาตรา ๑๖๙ ให้เป็นที่สุด
               การพิจารณาและมีคําสั่งของศาลตามมาตรา ๑๖๖ มาตรา ๑๖๘ และมาตรา ๑๖๙ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

 

ลักษณะ ๘
บทกำหนดโทษสำหรับการจูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม
ใช้อุบายหลอกลวง หรือใช้กำลังบังคับให้ผู้อื่นเสพยาเสพติด
 

-------------------------

               มาตรา ๑๗๑  ผู้ใดจูงใจ ชักนํา ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังบังคับ ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๖ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทําโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการกระทําต่อหญิงหรือต่อบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี หรือเป็นการกระทําเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นกระทําความผิดทางอาญา หรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการกระทําความผิดทางอาญา ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงห้าล้านบาท

               มาตรา ๑๗๒  ผู้ใดจูงใจ ชักนํา ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังบังคับ ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ให้ผู้อื่นเสพวัตถุออกฤทธิ์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๖ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทําโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการกระทําต่อหญิงหรือต่อบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี หรือเป็นการกระทําเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นกระทําความผิดทางอาญาหรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการกระทําความผิดทางอาญา ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงห้าล้านบาท

               มาตรา ๑๗๓  ผู้ใดจูงใจ ชักนํา ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังบังคับ ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ให้ผู้อื่นเสพสารระเหย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๖ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทําต่อหญิงหรือต่อบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี หรือเป็นการกระทําเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นกระทําความผิดทางอาญาหรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการกระทําความผิดทางอาญา ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

ลักษณะ ๙
บทกำหนดโทษสำหรับความผิดต่อเลขาธิการ ป.ป.ส.
รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และพนักงานเจ้าหน้าที่
 

-------------------------

               มาตรา ๑๗๔  เจ้าของหรือผู้ดําเนินกิจการสถานประกอบการผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งตามมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

               มาตรา ๑๗๕  ผู้รับอนุญาตหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคําหรือไม่ส่งเอกสารหรือวัตถุใดแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

               มาตรา ๑๗๖  ผู้ใดไม่ให้ถ้อยคําหรือไม่ส่งบัญชีเอกสารหรือวัตถุใด ๆ หรือไม่ยอมให้มีการตรวจหรือทดสอบว่าผู้ใดมียาเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. หรือเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการสืบสวน สอบสวน หรือตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๗๗  ผู้ใดยักย้าย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ หรือรับไว้โดยมิชอบด้วยประการใดซึ่งทรัพย์สินที่มีคําสั่งยึดหรืออายัดหรือที่ตนรู้ว่าจะถูกยึดหรืออายัดตามมาตรา ๗๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

ลักษณะ ๑๐
บทกำหนดโทษสำหรับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
 

-------------------------

               มาตรา ๑๗๘  กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกของคณะทํางานตามประมวลกฎหมายนี้ เลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายนี้ ผู้ใดกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเสียเอง ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

               มาตรา ๑๗๙  กรรมการ อนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายนี้ หรือเจ้าพนักงานหรือข้าราชการผู้ใดกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอันเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

               มาตรา ๑๘๐  ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กรรมการหรือผู้บริหารหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าพนักงาน หรือกรรมการองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญผู้ใดกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

 

ลักษณะ ๑๑
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
 

-------------------------

               มาตรา ๑๘๑  ผู้ใดทําการบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดเป็นปกติธุระ โดยมิได้กระทําในสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามที่กําหนดในประมวลกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๑ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๘๒  ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับการบําบัดรักษายาเสพติดหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทําการดังกล่าวโดยใช้ชื่อของตน หรือชื่อหรือที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของตน หรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของตน โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการโฆษณาที่กําหนดในกฎกระทรวง อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๘๓  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้อนุญาตตามมาตรา ๑๒๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๘๔  ถ้าการกระทําตามมาตรา ๑๘๒ หรือมาตรา ๑๘๓ เป็นการกระทําของเจ้าของสื่อโฆษณาหรือผู้ประกอบกิจการโฆษณา ผู้กระทําต้องระวางโทษเพียงกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น

 

ลักษณะ ๑๒
การบังคับโทษปรับ
 

-------------------------

               มาตรา ๑๘๕  บรรดาความผิดตามภาคนี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ส. มอบหมาย หรือเลขาธิการ อย. หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ อย. มอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               ถ้าผู้ต้องหาได้ชําระเงินค่าปรับตามคําเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กําหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๘๖  ในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้เงินที่ได้จากค่าปรับตามคําพิพากษาตกเป็นของกองทุน ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่นําส่งคลังโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
               หากจําเลยไม่ชำระค่าปรับตามวรรคหนึ่งและมีการดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. อํานวยความสะดวกหรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการบังคับคดีด้วย

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท