คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5433/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237, 456 วรรคสอง, 1300 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ก็ยังซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ก็รู้เช่นเดียวกันแล้วยังรับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 แสดงว่าจำเลยทั้งสี่กระทำไปโดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและจำนองได้ตามป.พ.พ. มาตรา 237 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ แม้โจทก์จะไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงไว้แล้วว่า จำเลยทั้งสี่สมคบกันทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินและจำนองที่ดินโดยไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ และมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสี่ไว้ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย และพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและจำนองที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสี่ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5433 - 5434/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. , 456 วรรคสอง, 1300 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. , 172 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ก็ยังซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ก็รู้เช่นเดียวกันแล้วยังรับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 แสดงว่าจำเลยทั้งสี่กระทำไปโดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและจำนองได้ตามป.พ.พ. มาตรา 237
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ แม้โจทก์จะไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ก็ตาม แต่ตามฟ้องโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงไว้แล้วว่า จำเลยทั้งสี่สมคบกันทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินและจำนองที่ดินโดยไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ และมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสี่ไว้ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย และพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและจำนองที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสี่ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5429/2533
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ม. 27, 42, 44, 47 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158
คดีความผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าภาพยนตร์ตามฟ้องเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนิติบุคคลในเมืองฮ่องกงอันเป็นดินแดนในอารักขาของประเทศสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณ กรุงเบอร์น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1886 ซึ่งได้แก้ไขณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคลเพิ่มเติม ลงนาม ณ กรุงเบอร์น เมื่อวันที่20 มีนาคม ค.ศ. 1914 โดยกฎหมายเมืองฮ่องกงให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ประเทศไทยเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวและกฎหมายฮ่องกงให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ตามฟ้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการฟ้องคดีอาญา จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521และขอให้สั่งให้ตลับแถบ บันทึกภาพและเสียงของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 47 เมื่อไม่ได้ความว่าภาพยนตร์ตามฟ้องเป็นงานมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครอง จึงต้องคืนของกลางแก่เจ้าของ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5426/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 62 วรรคสอง, 177
ตามป.วิ.พ. มาตรา 62 วรรคสอง เป็นกรณีที่ตัวความจะปฏิเสธหรือแก้ไขข้อเท็จจริงที่ทนายความของตนได้กล่าวด้วยวาจาต่อหน้าตนในศาลเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การต่อสู้คดีเป็นหนังสือจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจปฏิเสธหรือแก้ไขข้อเท็จจริงตามคำให้การนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5399/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 425, 448 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 51 วรรคสาม
การนับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง กำหนดไว้โดยอาศัยสิทธิเรื่องอายุความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสาม นั้น มีได้เฉพาะในกรณีที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากผู้กระทำผิดทางอาญาซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจนคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเท่านั้น มิได้หมายความถึงการเรียกร้องจากผู้อื่นซึ่งมิได้เป็นผู้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิดทางอาญาด้วย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5413/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352
จำเลยนำเช็คซึ่งบริษัท พ. สั่งจ่ายให้จำเลยมาสลักหลังแล้วแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินไม่ได้เนื่องจากธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ให้จำเลยเอาเงินมาคืนและมอบเช็คให้จำเลยไปติดต่อกับบริษัท พ. เอง เพราะโจทก์ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับบริษัทดังกล่าว แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะเรียกร้องเอาเงินตามเช็คจากผู้สั่งจ่าย แต่เลือกที่จะเรียกร้องเอาเงินตามเช็คจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สลักหลัง ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะเลือกกระทำได้ จำเลยจึงเป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีสิทธิที่จะนำไปเรียกเก็บเงินเอาจากผู้สั่งจ่ายได้ แต่จำเลยยังคงต้องรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาแลกเช็คกับเงินสดที่ทำไว้ต่อโจทก์ เมื่อจำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินได้แล้ว จำเลยไม่มีหน้าที่ที่จะต้องนำเงินจำนวนที่รับมาดังกล่าวไปมอบให้แก่โจทก์ แม้ฟังว่าจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เสียเองไม่นำไปมอบให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5409/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 52 (1), 59 วรรคสอง, 60, 80, 90, 91, 288, 289 (2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186 (7)
จำเลยทั้งสองไล่ตามผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาถึงที่เกิดเหตุและขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 ได้เข้าไปนั่งรวมอยู่ในกลุ่มของผู้เสียหายที่ 3 ถึงที่ 6 แล้ว จำเลยทั้งสองตามมาถึงโดยอยู่ห่างไปประมาณ 2 วา พร้อมกับใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มผู้เสียหายทันที เมื่อปรากฏว่าอาวุธปืนที่ใช้ยิงเป็นอาวุธปืนลูกซองสั้น และยิงในระยะใกล้ชิดเช่นนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายโดยตรง มิใช่เป็นการกระทำโดยพลาด ผู้เสียหายที่ 3 ที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งเครื่องแบบถูกยิงขณะที่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ว่าถูกคนร้ายไล่ยิง และผู้เสียหายที่ 3 กำลังสอบปากคำผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2เพื่อติดตามจับกุมคนร้าย ถือว่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ 4 ถูกยิงขณะปฏิบัติหน้าที่ การที่จำเลยทั้งสองไล่ตามผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2มาจนถึงที่เกิดเหตุสามารถมองเห็นผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ซึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจได้ชัดเจน ก็ย่อมทราบได้ทันทีว่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 หลบหนีเพื่อมาขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่จำเลยทั้งสองก็ยังยิงปืนใส่กลุ่มผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 6 ถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายที่ 4 และที่ 5 ได้รับอันตรายแก่กายสาหัส จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้เสียหายที่ 6 ร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 5และร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพราะเหตุที่จะกระทำการตามหน้าที่ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นอันเป็นบทหนัก ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเพราะเหตุที่จะกระทำการตามหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(2),80 แต่มิได้ปรับบทลงโทษมาด้วย และที่ศาลชั้นต้นลดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ปรับบทตามมาตรา 52(1) เป็นการไม่ถูกต้องชัดแจ้ง แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยให้ถูกต้องได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5364/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 57 (3) (ข), 202, 205 วรรคสอง
ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ไว้สองวันคือวันที่ 6 และ 20 กันยายน 2528 ดังนั้น ในสมุดนัดความของทนายจำเลยจึงควรจะมีการลงนัดความคดีนี้ไว้ด้วยทั้งสองวันตั้งแต่ในวันชี้สองสถานแล้ว และเมื่อถึงกำหนดนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 6 กันยายน 2528 เมื่อมีการเลื่อนการสืบพยานไปวันที่ 20 กันยายน 2528 และวันที่16 ตุลาคม 2528 หากทนายจำเลยเข้าใจว่ามีการยกเลิกการนัดสืบพยานในวันที่ 20 กันยายน 2528 ตามที่อ้างจริงก็น่าจะต้องมีหมายเหตุการยกเลิกไว้ในสมุดนัดความนี้แต่ปรากฏว่าในภาพถ่ายสมุดนัดความของทนายจำเลยไม่มีการลงนัดความคดีนี้ไว้ในวันดังกล่าวเลย คงลงนัดคดีของศาลอื่น ไว้เท่านั้น ที่ทนายจำเลยอ้างว่าที่ขาดนัดพิจารณาเพราะเข้าใจ ว่ายกเลิกวันนัดแล้วจึงขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อ เหตุที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นกล่าวอ้างยังไม่เพียงพอฟังว่าไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้หมายเรียก ว. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม หลังจากจำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณาและมีการสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรจะให้เรียก ว.เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5379/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 368 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 142
โจทก์อ้างว่าจำเลยซื้อที่ดินโจทก์เฉพาะส่วนที่จำเลยรุกล้ำตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 แล้วไม่ชำระราคาตามกำหนด โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้ขับไล่จำเลย จำเลยกล่าวแก้ว่าส่วนที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยรุกล้ำจำเลยครอบครองมาตั้งแต่ได้รับยกให้ โจทก์จำเลยโต้เถียงกัน เพื่อไม่ให้ต้องดำเนินคดีกัน จำเลยยินยอมให้เงินโจทก์ 2,000 บาทได้ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ไว้ ปรากฏว่าตามสัญญาเอกสารหมายจ.1 ไม่มีข้อความใดระบุว่าเป็นการซื้อขาย คงมีแต่เพียงว่าจำเลยจะจ่ายเงินให้โจทก์ 2,000 บาท ใน 60 วัน และไม่มีข้อความใดระบุว่าถ้าหากจำเลยไม่ใช้เงินแก่โจทก์ตามกำหนดแล้ว คู่สัญญาต้องปฏิบัติอย่างไรต่อกันจึงต้องถือเอาเจตนาในการเข้าทำสัญญาระหว่างกันจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ได้ขอให้บังคับตามข้อนี้ ส่วนประเด็นที่โจทก์อ้างว่าจำเลยซื้อขายที่ดินส่วนที่รุกล้ำนั้นจำเลยปฏิเสธว่าให้เงินเพื่อไม่ต้องดำเนินคดีแก่กัน ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบตามข้อกล่าวอ้าง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยตกลงจะซื้อที่ดินของโจทก์ ศาลจึงบังคับขับไล่จำเลยตามฟ้องไม่ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5366/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 219, 381, 587
แม้อุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าบางประการมิใช่ความผิดของโจทก์ แต่ก่อนครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาฉบับแรก โจทก์กับจำเลยที่ 1ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดังกล่าวครั้งที่ 1 มีการลดเวลาการก่อสร้างลงอีก 5 วัน และขณะนั้นเหลือเวลาอีกเพียง 14 วัน ก็จะถึงกำหนดเวลาที่แก้ไขใหม่ แต่โจทก์กลับยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวโดยดี และต่อมาเมื่อมีการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดังกล่าวครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าวเสร็จแล้ว สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับหลังเพิ่มเวลาก่อสร้างเพียง 3 วันโจทก์ย่อมต้องทราบแล้วว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยกว่าเวลาที่โจทก์ใช้จริงมาก และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดที่จ่ายให้โจทก์ไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่โจทก์กลับยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับแรกครั้งที่ 2 โดยดีอีกเช่นกัน ส่วนการก่อสร้างตามสัญญาฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นการก่อสร้างต่อเนื่องจากสัญญาฉบับแรก กำหนดไว้ว่าต้องลงมือก่อสร้างหลังจากทำการก่อสร้างตามสัญญาฉบับแรกไปแล้ว 170 วัน และปรากฏว่าการก่อสร้างตามสัญญาฉบับนี้ล่าช้ากว่ากำหนดเช่นเดียวกับสัญญาฉบับแรกแม้น่าเชื่อว่าอุปสรรคที่ทำให้การก่อสร้างตามสัญญาฉบับแรกล่าช้ามีผลทำให้การก่อสร้างตามสัญญาฉบับหลังล่าช้าไปด้วยแต่เมื่อมีการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาฉบับหลังครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาฉบับหลังเสร็จแล้ว สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเพิ่มเวลาการก่อสร้างให้โจทก์อีกเพียง 127 วัน โจทก์ย่อมต้องทราบแล้วว่าระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นน้อยกว่าเวลาที่โจทก์ใช้จริงมาก และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 หักค่าปรับจากเงินค่าจ้างแต่ละงวดที่จ่ายให้โจทก์ไปเป็นจำนวนมาก แต่โจทก์ยังคงยอมลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวอีกเช่นกัน พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับกำหนดเวลาสิ้นสุดในสัญญาทุกฉบับที่ทำกับจำเลยที่ 1 และไม่ติดใจเงินค่าปรับที่ต้องถูกหักจากค่าจ้างตามสัญญา โจทก์จึงต้องผูกพันตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาทั้งสองฉบับและไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าปรับที่จำเลยที่ 1 หักไว้