คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5526

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5526/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 192, 1087

การที่ ส. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการประเภทต้องร่วมรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนของจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ภายหลังจากที่หนี้ขาดอายุความแล้วแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ ย่อมมีผลถึง ส. ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้นั้นด้วย ส. จึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องให้รับผิดในหนี้ดังกล่าวในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จำเลยที่ 2 จึงยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 บัญญัติไว้ การละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ เพียงแต่แสดงเจตนาให้เห็นว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความเท่านั้นก็เป็นการเพียงพอแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5489

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5489/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 76, 420, 448 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลอันเป็นส่วนราชการ ทราบรายงานสรุปผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนและวินิจฉัยสั่งการเกี่ยวกับผู้รับผิดในทางแพ่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม2527 ถือว่าโจทก์เพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันนั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8มีนาคม 2528 ยังไม่ล่วงพ้นระยะเวลา 1 ปี จึงไม่ขาดอายุความ อ.นำเอกสารที่ทำปลอมขึ้นเสนอต่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 โดยไม่ผ่านจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก่อนตามระเบียบ แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 ที่ 4 แต่ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเรื่องละเมิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 อันได้แก่การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ กรณีนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ประมาทเลินเล่อมิได้ จำเลยที่ 3 ที่ 4 จ่ายเงินยืม-ทดรองราชการแก่ อ. ทั้งที่อ. มิได้เสนอผ่านขั้นตอนตามระเบียบ นอกจากนี้ยังมิได้เรียกหนังสือมอบฉันทะจาก อ. และมิได้ดำเนินการทวงถามเงินยืมคืนจากผู้ยืม เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับจากวันรับเงินอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทำให้ อ. สามารถกระทำการทุจริตได้การที่ อ. กระทำการทุจริตได้ จึงเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว จำเลยที่ 3 ที่ 4 มีหน้าที่ชดใช้เงินแก่โจทก์ หากโจทก์จะได้รับชำระหนี้จาก อ.และฉ.ในคดีที่โจทก์ฟ้องอ.และฉ.ให้รับผิดต่อโจทก์ อันเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 เพราะอาจไม่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์อีก ก็เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีต่อไป หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้จึงหาซ้ำซ้อนกับคดีดังกล่าวไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 350, 572 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 245, 247

ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ จำเลยที่ 1อาจโอนสิทธิในทรัพย์ที่เช่าซื้อให้แก่ผู้อื่นได้ แต่จำเลยที่ 1ยังมีหน้าที่ต้องชำระราคาค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์อยู่หาพ้นความรับผิดไม่ เว้นแต่จะได้มีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 การที่บริษัทส. ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมลงชื่อในแบบพิมพ์เปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเช่าซื้อ กับให้จำเลยร่วมลงชื่อในแบบพิมพ์คำร้องขอเช่าซื้อรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยร่วม สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ยังไม่ระงับและมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยร่วมมิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยร่วม อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเป็นคุณแก่จำเลยร่วมได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 18 วรรคท้าย, 174 (2), 226 (1), 226 (2)

เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องขัดทรัพย์โดยให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นราคาที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินไว้ก่อน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มโดยให้คำนวณทุนทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาไว้ภายในกำหนด 20 วัน ผู้ร้องทราบคำสั่งโดยชอบแล้วไม่ปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องไว้ และจำหน่ายคดีของผู้ร้องคำสั่งดังกล่าวหาใช่คำสั่งที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสุดท้าย เนื่องจากมิใช่คำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) ผู้ร้องต้องทำคำคัดค้านโต้แย้งไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) เมื่อผู้ร้องไม่นำเงินค่าขึ้นศาลที่ต้องเสียเพิ่มมาชำระภายในเวลาที่ศาลกำหนดถือว่าผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้ เป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) แม้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นใช้คำว่า "สั่งไม่รับคำร้องขัดทรัพย์"รวมอยู่ในคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องด้วย แต่ก็ได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความไว้ด้วยถือว่าเป็นการใช้ถ้อยคำคลาดเคลื่อน ซึ่งมีผลเป็นว่าให้จำหน่ายคดีด้วยเหตุที่ผู้ร้องทิ้งคำร้องนั่นเอง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5495

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5495/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 186 (9)

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยและขอให้ริบของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องซึ่งมีผลเท่ากับได้วินิจฉัยให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้ริบของกลางด้วยแล้ว ไม่จำต้องระบุด้วยว่า ของกลางไม่ริบ และเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์โดยมิได้วินิจฉัยเรื่องของกลางในคดีนั้นชอบแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1600 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 148

โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้แบ่งปันมรดกให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่จำเลยทั้งสามทำกับผู้จัดการมรดกร่วมของผู้ตายโดยมิได้ขอแบ่งที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายด้วย คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแม้โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่โจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระบุถึงส่วนแบ่งมรดก การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีก่อนจึงเป็นการเรียกร้องมรดกในฐานะที่ตนเป็นทายาทนั่นเอง ในเมื่อคดีก่อนโจทก์มิได้ฟ้องขอแบ่งที่พิพาทที่เป็นมรดกมาด้วยตามสิทธิที่จะเรียกร้องได้ คงมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยไว้ในคดีก่อน เมื่อโจทก์จำเลยทั้งสามเป็นคู่ความรายเดียวกัน คดีของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ปัญหาที่ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลเห็นสมควรก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนตามที่คู่ความนำสืบก็เป็นการนำสืบโดยถูกต้องตามวิธีพิจารณา ศาลจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5465

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5465/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 295, 288 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 220

โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาร่วมกับพวกฆ่า ล. และร่วมกับพวกทำร้ายร่างกาย ช. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองข้อหาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดในข้อหาร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายเพียงข้อหาเดียว ย่อมมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โจทก์จึงฎีกาในข้อหาความผิดนี้ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5455

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5455/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 851, 1574 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 145

สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมทำแทนจำเลยที่ 3 ผู้เยาว์ในศาล โดยมิได้ขออนุญาตจากศาลตามป.พ.พ. มาตรา 1574 ก่อน แต่เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจอนุญาตให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำแทนผู้เยาว์และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาตามยอมมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ผู้เยาว์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5452

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5452/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 531 (2)

จำเลยกล่าวแก่โจทก์ซึ่งเป็นมารดาว่า จำเลยไม่เคยได้อะไรจากโจทก์เลยได้มาแต่หี คำพูดดังกล่าวไม่ได้เน้น ให้ เห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะก้าวร้าวหรือด่าว่าโจทก์ หากแต่เป็นการพูดลอย ๆ เพื่อกระทบกระเทียบเปรียบเปรยด้วยความน้อยใจที่น้องสาวพาโจทก์มาขอเงินจำเลยเสียมากกว่า ไม่เป็นหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5451

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5451/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225

สาระสำคัญของการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 อยู่ที่จำเลยใช้รถผิดประเภท และใช้รถยนต์โดยสารแล่นทับเส้นทางสัมปทานของผู้อื่น อันเป็นความผิดเพราะไม่ได้รับอนุญาตรถยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบการที่ศาลชั้นต้นริบจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง จึงต้องคืนแก่ผู้ร้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ แม้ผู้ร้องจะมิได้ฎีกาแต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง,225.

« »
ติดต่อเราทาง LINE