คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5564/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 87, 142 (5), 177, 183
จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยซึ่งผู้ตายยกให้แต่กลับนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นพิพาทที่ศาลกำหนดไว้ ไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบ ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ไม่ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5558/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 538 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24, 86
จำเลยเช่าที่ดินของ ห. มีกำหนด 10 ปี โดยทำสัญญาเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงมีผลบังคับกันได้เพียง 3 ปี ที่จำเลยให้การว่ากำหนดเวลาเช่าที่เกินกว่า 3 ปีเป็นคำมั่นซึ่งมีผลบังคับ ห.ได้จึงมีผลบังคับพ. ผู้รับโอนที่ดินจาก ห. ด้วยนั้น ไม่มีบทกฎหมายรับรองสิทธิให้บังคับตามที่จำเลยให้การ ศาลชอบที่จะพิพากษาคดีได้โดยไม่จำต้องสืบพยาน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5557/2533
พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 8 ทวิ, 72 ทวิ
เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นบ้านจำเลย จำเลยจึงพาอาวุธปืนที่มีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตติดตัวไป การที่จำเลยพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในทางสาธารณะ แม้เพื่อมิให้ถูกค้นพบและถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม ก็เป็นการที่จำเลยเจตนากระทำความผิดขึ้นใหม่เพื่อปกปิดหรือให้พ้นจากการถูกจับกุมในความผิดที่ได้ก่อขึ้นแล้วถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยผิดกฎหมายจึงต้องมีความผิดในข้อหาพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะด้วย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5524/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1715, 1719, 1726 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 123 วรรคสอง
การที่จะขอให้ศาลชี้ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1726 ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันแล้วมีความเห็นแตกต่างกันจนไม่สามารถจัดการมรดกได้ และเกิดมีเสียงเท่ากัน การที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันละเลยเพิกเฉยไม่ยอมเข้าปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับผู้ร้องในอันที่จะจัดการมรดกนั้น มิใช่เป็นกรณีที่จะมาขอให้ศาลชี้ขาดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ผู้จัดการมรดกจะมาร้องขอให้ศาลออกคำสั่งเรียกให้ธนาคารส่งและแจ้งบัญชีเงินฝากรวมทั้งหลักฐานการเบิกถอนและสรรพเอกสารที่เกี่ยวข้องของผู้ตายหรือของผู้คัดค้านต่อศาลเพื่อให้ตนตรวจสอบหาได้ไม่ เป็นเรื่องที่ผู้จัดมรดกจะต้องดำเนินการเองตามสิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5544/2533
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 101
ลูกหนี้มอบเงินสดไว้เป็นประกันการทำหนังสือค้ำประกันของเจ้าหนี้ เงินวางประกันจึงเป็นเงินที่เจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันจะต้องคืนเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้หากเจ้าหนี้ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก ต่อเมื่อเจ้าหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกแล้วเจ้าหนี้จึงจะนำเงินดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ชำระไปได้ สมควรกำหนดจำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้อาจได้รับชำระหนี้เต็ม ตามจำนวนเงินในหนังสือค้ำประกันโดยกำหนดเงื่อนไขให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกไปตามหนังสือค้ำประกันโดยหักเงินวางประกันออกจากจำนวนเงินที่ลูกหนี้จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ก่อน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5542/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1312 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
การที่จำเลยสร้างรั้วกำแพงรุกล้ำที่ดินของโจทก์นั้น มิใช่เป็นการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 จำเลยต้องรื้อถอนออกไป ที่จำเลยฎีกาว่า สิ่งปลูกสร้างคดีนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับโรงเรือนเพราะปลูกสร้างแน่นหนามั่นคงติดกับที่ดิน และพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2497 ให้ถือว่ากำแพงเป็นอาคารด้วยนั้นจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในประเด็นข้อนี้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5534/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296 วรรคสอง, 306
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทราบเพื่อโจทก์จะได้เตรียมตัวเข้าสู้ราคาหรือรักษาผลประโยชน์ส่วนได้เสียของโจทก์ในการบังคับคดี การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีให้ผู้แทนโจทก์เซ็นทราบวันนัดไว้ล่วงหน้า ผู้แทนโจทก์ย่อมทราบเฉพาะวันนัดขายทอดตลาดเท่านั้น แต่ไม่ทราบรายละเอียดการโฆษณาบอกขายที่ดินพิพาทตลอดถึงข้อสัญญาและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการขายทอดตลาดซึ่งมีอยู่ในประกาศขายทอดตลาด และในการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีควรตั้งราคาขั้นต่ำเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยจำนองไว้พร้อมค่าอุปกรณ์ถ้าจะขายราคาต่ำกว่านั้น โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำนองจะต้องไม่คัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นสั่งขายและเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายในราคาซึ่งต่ำกว่าราคาจำนองทั้งที่ผู้แทนโจทก์คัดค้าน แม้ว่าการขายครั้งนี้จะเป็นการขายครั้งที่ 6 และขายได้ราคาสูงกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ในขณะยึดทรัพย์ก็ตาม ก็หาเป็นราคาพอสมควรไม่ เพราะราคายังต่ำกว่าจำนวนเงินจำนองพร้อมค่าอุปกรณ์และต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินมาก ส่อให้เห็นวี่แววอันไม่สุจริต เป็นการขายไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5530/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183, 243 (2) พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ม. 8
โจทก์มิได้สร้างสรรค์ภาพต้นแบบขึ้นโดยการรับจ้างจำเลย จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ว่าจ้างอันจะมีลิขสิทธิ์ในงานนั้นตาม มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 โจทก์ย่อมเป็น เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว จำเลยได้ดัดแปลง และนำงาน อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกโฆษณาโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิด ลิขสิทธิ์ของโจทก์ แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะได้บรรยายว่า การกระทำของ จำเลยเป็นการละเมิดต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ด้วยก็ตามแต่ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเรื่องละเมิดต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์เป็นประเด็นพิพาทไว้และโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน จึงต้องถือว่าโจทก์สละประเด็นข้อนี้แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5528/2533
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1367 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ม. 34
พ.ยกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินให้แก่วัดจำเลย โดยให้นางข.ซึ่งเป็นภรรยามีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต และจำเลยก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทแล้วเช่นนี้ที่ดินพิพาทได้ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดจำเลยตั้งแต่ พ.ยกให้และจำเลยรับไว้แล้วเป็นต้นมา นางข.เป็นเพียงผู้ครอบครองแทนแม้ต่อมานางข.จะได้ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ และโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อมาก็ตาม วัดจำเลยก็ยังคงมีสิทธิครอบครองเช่นเดิมเพราะโจทก์ต้องห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่ธรณีสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505มาตรา 34 การที่จำเลยได้ที่ดินพิพาทมาและสละที่ดินพิพาทบางส่วนไปโดยไม่ได้ลงทะเบียนการได้มาและจำหน่ายออกไปจากทะเบียนตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2(พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505นั้น หาได้เป็นเหตุให้จำเลยเสียสิทธิในที่ดินพิพาทที่ได้รับมาไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 914, 959
แม้หนังสือมอบอำนาจจะมิได้ระบุโดยตรงว่าห้างโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจให้ ม. ฟ้องคดีแทน แต่ในตอนต้นของหนังสือมอบอำนาจระบุว่า ข้าพเจ้านาย ป. และมีข้อความต่อมาว่า ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันห้างโจทก์-------------------------------------และในช่องผู้มอบอำนาจ นอกจากนาย ป. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์จะได้ลงลายมือชื่อแล้วยังได้ประทับตราของห้างโจทก์อีกด้วย ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มอบอำนาจให้ ม. ฟ้องคดีแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาท เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยเป็นหนี้โจทก์จึงไม่มีมูลหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ เพราะการที่จำเลยที่ 1เข้าสลักหลังเช็คพิพาทย่อมก่อให้เกิดมูลหนี้ในเช็คอยู่ในตัว.