คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5660/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4) พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 ม. 35, 84
บทบัญญัติมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 เป็นบทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่อาจได้รับความเสียหาจากการถูกจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ผู้ที่จูงใจหรือผู้อื่นโดยไม่สมัครใจ เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวมไม่ได้คุ้มครองบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ ดังนั้น ถึงแม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยกระทำความผิดต่อบทกฎหมายดังกล่าวก็ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อรัฐ ไม่ใช่กระทำความผิดต่อโจทก์แม้โจทก์จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยผู้หนึ่ง โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาฐานนี้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5626/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68, 288
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจร่วมกับพวกอีกสองคน แต่งกายนอกเครื่องแบบไปตรวจค้นตัวผู้ตายและสิ่งของในเพิงที่พักพบกัญชาหนักประมาณ 200 กรัม จึงจับกุมผู้ตายใส่กุญแจมือไว้ทั้งสองข้าง และแจ้งข้อหา ผู้ตายจะสวมใส่เสื้อ จำเลยถอดกุญแจมือให้ผู้ตายข้างหนึ่ง ผู้ตายฉวยโอกาสนั้นกระโดดออกจากเพิงวิ่งหนีไปจำเลยวิ่งตามและใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทางด้านหลัง กระสุนปืนถูกผู้ตายที่แก้มก้นด้านซ้าย ตัดลำไส้ใหญ่ ตัดเส้นโลหิตแดงที่ไปเลี้ยงขาซ้ายขาด ทำให้โลหิตตกในเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเช่นนี้ แสดงว่า จำเลยยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าผู้ตายในลักษณะที่ผู้ตายวิ่งหนีมือเปล่า และไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5666/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 147
จำเลยเป็นกำนันและประธานกรรมการสภาตำบลท้องที่ มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการที่เกิดจากโครงการสร้างงานในชนบท ได้อนุญาตให้ ช. ผู้รับเหมาทำถนนดินในตำบลท้องที่ขุดดินจากถนนเดิมซึ่งเป็นถนนที่สภาตำบลสร้างขึ้นตามโครงการสร้างงานในชนบทปีก่อน ๆ และอยู่ในความดูแลของสภาตำบลที่จำเลยเป็นประธานกรรมการไปถมทำถนนใหม่ และปล่อยให้ ช. ขุดดินจากข้างถนนเดิมขึ้นมาถมแทนดินที่ขุดไป ทำให้ ช. ไม่ต้องซื้อที่ดินจากที่อื่นมาถมถนนเดิมที่ขอยืมดินไปตามสัญญา แล้วจำเลยกลับเบิกจ่ายเงินค่าทำถนนให้ ช. ไปจนครบจำนวน จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5622/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 243 (2), 247 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 40, 46
ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกัน ในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาด้วยกันนั้น หาได้มีบทกฎหมายใดบังคับว่า ในการพิจารณาคดีหลังที่กล่าวหากันด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีก่อน ศาลจะต้องถือเอาข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วในคดีก่อนไม่ดังนั้น ในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญา ศาลจึงฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนได้ หาจำต้องไปฟังข้อเท็จจริงจากคดีก่อนไม่ ส่วนในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งนั้น หากเป็นการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกันมาศาลจำต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ในคดีส่วนแพ่ง แม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัยคดีและพิพากษาให้แก่โจทก์ การที่จะส่งสำนวนคืนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งเสียใหม่หาได้เกิดผลดีแก่คดีโจทก์ไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5614/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296 วรรค2 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 เมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ย่อมหมดอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี เนื่องจากกฎหมายบัญญัติให้อำนาจดังกล่าวตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว การที่จำเลยซึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินของตนในคดีนี้ ถือได้ว่าเป็นการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22(3) จำเลยหามีอำนาจที่จะร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเข้ามาด้วยตนเองไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5640/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59 วรรคสอง, 68, 80, 288
ภริยาจำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่า การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของภริยาจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน มีดปลายแหลมที่จำเลยใช้ทั้งด้ามยาวถึง 1 ฟุต อาจใช้แทงประทุษร้ายถึงตายได้ จำเลยเลือกแทงตรงอวัยวะสำคัญและแทงโดยแรง ผู้เสียหายได้รับบาดแผลยาว 2 เซนติเมตรกว้าง 1 เซนติเมตร ลึกทะลุเยื่อบุ ช่องท้องอาจทำให้ถึงตายได้จำเลยจะแทงซ้ำอีก แต่มีผู้วิ่งมาถึงที่เกิดเหตุเสียก่อนจำเลยจึงวิ่งหนีไป เช่นนี้ ถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5592/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 80, 288
การที่จำเลยใช้ปืนอันเป็นอาวุธที่ร้ายแรงยิงเข้าไปในบ้านผู้เสียหายในยามวิกาล ซึ่งวิญญูชนทั่วไปย่อมรู้ดีว่าต้องมีบุคคลหลับนอนหรือพักอาศัยอยู่ในบ้าน แม้กระสุนปืนที่จำเลยยิงเข้าไปในบ้านจะไม่ถูกผู้เสียหายหรือผู้ใดที่อยู่ในบ้าน แต่เมื่อตำแหน่งที่ถูกกระสุนปืนนัดหนึ่งห่างจากผู้เสียหายเพียง 1 เมตร อีกนัดหนึ่งถูกใต้ขอบหน้าต่างบ้าน ดังนี้ การกระทำของจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ามีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5577/2533
ประมวลรัษฎากร ม. 118
ประมวลรัษฎากรไม่ได้บังคับว่าสัญญาซื้อขายจะต้องปิดอากรแสตมป์ดังนั้น แม้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจะไม่ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5575/2533
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299, 1300, 1336 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138
จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน แม้ต่อมาศาลจะพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยยกที่ดินให้ว.ครึ่งหนึ่งโดยใส่ชื่อว. เป็นเจ้าของรวมในโฉนด แต่เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนใส่ชื่อ ว.เป็นเจ้าของรวมว. ก็ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงผู้เดียว การที่จำเลยโอนที่ดินทั้งหมดให้ ถ. จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5556/2533
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 54 วรรคสอง, 148
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดโดยฟังหรืออาศัยพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ แล้วมิได้พิจารณาพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบแก้เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณานั้น เป็นการโต้แย้งดุลยพินิจของศาลในการวินิจฉัยพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยจอดรถชิด ขอบทางด้านที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนดแต่หันหัวรถสวนทางกับรถคันอื่นที่จะแล่นเข้ามาในซอย ที่เกิดเหตุเป็นการจอดรถด้านขวาของทางเดินรถของจำเลยไม่จอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิด กับขอบทางในระยะห่างไม่เกินยี่สิบห้าเซนติเมตร จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคสองโดยไม่จำต้องคำนึงว่าจอดรถกีดขวางการจราจรและเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ทางเดินรถหรือไม่.