คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3718

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3718/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40, 86

วันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก จำเลยแถลงขอเลื่อนคดี และแถลงว่าหากนัดหน้าจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยแถลงว่าไม่มีพยานมาศาล แล้วแต่ศาลจะพิจารณาสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเนื่องจากจำเลยแถลงว่า หากนัดนี้ไม่มีพยานมาสืบให้ถือว่าไม่ติดใจสืบ จึงถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานจำเลย คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบแล้วเพราะศาลชั้นต้นได้สั่งไปตามที่ทนายจำเลยได้แถลงรับรองไว้ในนัดแรกและในนัดนี้ทนายจำเลยก็มิได้แถลงขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุที่จำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ด้วย คำแถลงของจำเลยที่ว่า หากนัดหน้าจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้ถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยาน นั้น มิได้หมายถึงเฉพาะพยานของฝ่ายจำเลยเท่านั้นหากแต่รวมถึงตัวจำเลยซึ่งได้อ้างตัวเองไว้เป็นพยานด้วย เพราะจะเป็นตัวจำเลยหรือพยานของจำเลยก็จะต้องเรียกว่าพยานฝ่ายจำเลยอยู่นั่นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3715

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3715/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 288, 249

คดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์และจำเลยได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลชั้นต้นไม่ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านคำสั่งดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำสืบก่อนไม่เป็นการถูกต้องนั้น แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์เสียแล้ว ก็ไม่อาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้ใหม่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ข้อกฎหมายที่โจทก์ฎีกาจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 132, 213, 369

แม้ตามสัญญาจะมีข้อสัญญาว่า หากจำเลยไม่สามารถชำระเงินงวดที่สองแก่โจทก์ภายในกำหนด ยอมให้ริบเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดได้และสัญญาเป็นอันยกเลิกแต่ต่อมาจำเลยได้นำเงินงวดที่สองไปชำระแก่โจทก์จนครบถ้วน ทั้งยังให้โจทก์จดทะเบียนทางภารจำยอมให้จำเลยพร้อมกับ บันทึกกันไว้ด้านหลังสัญญาว่า ให้เลื่อนการโอนที่ดินของจำเลยไปก่อนและตราบใดที่จำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง ให้โจทก์มีสิทธิปิดทางภารจำยอมได้ หาได้มีการกำหนดให้มีการเลิกสัญญากันได้ให้เหมือนกับที่เคยทำกันไว้ไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าไม่ประสงค์จะให้นำเอาข้อสัญญาเดิม มาใช้บังคับกันอีกต่อไป เท่ากับเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนไขในการเลิกสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเอาประโยชน์จากข้อสัญญาดังกล่าวที่จำเลยได้สละไปแล้วเมื่อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและโจทก์ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้จำเลยแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิที่จะให้จำเลยโอนที่ดินตามสัญญาเป็นการชำระหนี้ตอบแทนให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3633

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3633/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ม. 7, 22 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337

ตามประกาศของจำเลยในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมที่ให้คนญวนอพยพในเขตจังหวัดนครพนมผู้ที่มีอายุครบ 12 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีบัตรประจำตัวคนญวนอพยพอยู่แล้วไปทำบัตรหรือเปลี่ยนบัตรที่ครบอายุ 2 ปีแล้วนั้น มีลักษณะเป็นประกาศทั่ว ๆ ไปไม่ใช่คำสั่งเฉพาะเจาะจง บังคับให้โจทก์ทั้งสี่ทำบัตรหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวญวนอพยพ และจำเลยมิได้มีคำสั่งถอนสัญชาติไทยของโจทก์ทั้งสี่ การที่โจทก์ทั้งสี่ไปเปลี่ยนหรือทำบัตรประจำตัวญวนอพยพก็ด้วยความสมัครใจเอง และเข้าใจเอาเองว่าถูกจำเลยออกคำสั่งถอนสัญชาติไทย จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 525, 1375, 1378

จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองของที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองแล้ว ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินย่อมโอนการครอบครองกันได้เพียงการส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่จำต้องไปทำหนังสือหรือจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

แม้หนังสือซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะเพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยบุกรุกเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองได้ และเมื่อจำเลยบุกรุกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่ละครั้งไม่เกิน 1 ปี โจทก์ย่อมไม่ขาดสิทธิที่จะฟ้องขับไล่เรียกการครอบครองที่ดินพิพาทคืนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3697

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3697/2533

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192, 227 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3

แม้ในคำฟ้องระบุว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คชำระหนี้ แต่พยานโจทก์เบิกความว่าเป็นเช็คที่มีผู้นำมาแลกเงินสดจากโจทก์ และตัวโจทก์กับพยานโจทก์เบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับวันที่รับแลกเช็คและการที่โจทก์ไม่สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเช็คพิพาทนั้นก็มิใช่ข้อสาระสำคัญถึงกับทำให้พยานโจทก์ฟังไม่ได้ การเช่นแชร์นั้นลูกแชร์ซึ่งประมูลแชร์ได้งวดใด มีหน้าที่ต้องส่งเงินค่าแชร์ที่ประมูลได้บวกกับดอกเบี้ย ให้หัวหน้าวงแชร์ทุกงวดจนกว่าจะครบลูกแชร์ทุกคนที่ยังประมูลไม่ได้ ไม่ใช่ต้องชำระค่าแชร์ที่จะต้องส่งต่อทั้งหมดในงวดเดียว การที่จำเลยมอบเช็คพิพาทมีจำนวนเงินเท่ากับค่าแชร์ที่จะต้องส่งต่อทั้งหมดให้แก่หัวหน้าวงแชร์ จึงไม่ใช่เป็นการชำระค่าแชร์ที่จำเลยจะต้องส่งต่อทั้งหมดแต่เป็นการมอบให้เพื่อประกันเงินค่าแชร์ที่จำเลยจะต้องส่งต่อเท่านั้น จำเลยไม่มีเจตนาจะให้ผู้ทรงนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร เมื่อโจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3684

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3684/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 30, 40, 86

ในวันนัดสืบพยานผู้ร้องครั้งแรกทนายผู้ร้องมาศาลขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุป่วยเจ็บ ในนัดที่ 2 ทนายผู้ร้องขอส่งประเด็นไปสืบพยานทุกคนที่ศาลอื่นโดยทนายผู้ร้องจะเป็นผู้จัดส่งหมายเรียกพยานเองหากส่งหมายให้พยานไม่ได้หรือพยานไม่มาศาลให้ถือว่าไม่ติดใจสืบพยานที่ไม่มาศาล ครั้นถึงวันนัดสืบพยานประเด็นทนายผู้ร้องก็ขอเลื่อนอีก โดยอ้างเหตุป่วยเจ็บและไม่ปรากฏว่านอกจากตัวผู้ร้องแล้วพยานอื่นที่ได้ขอหมายเรียกได้มาศาล ทั้งเมื่อผู้ร้องรับหมายเรียกพยานไปส่งแล้วก็ไม่ได้แจ้งผลการส่งหมายทนายโจทก์แถลงคัดค้านการขอเลื่อนคดีและขอให้ผู้ร้องซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความแต่ผู้ร้องก็ปฏิเสธไม่ยอมเข้าเบิกความ ศาลรับประเด็นจึงส่งประเด็นคืนเช่นนี้ เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ร้องจงใจประวิงคดีให้ชักช้าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานผู้ร้องชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3664

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3664/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคแรก

ปัญหาที่คู่ความฎีกาขึ้นมานั้น หากเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3662

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3662/2533

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40

ป.วิ.พ. มาตรา 40 มีเจตนารมณ์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิชักช้า การเลื่อนคดีก็อนุญาตให้เลื่อนคดีได้เพียงครั้งเดียว คู่ความที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีไปแล้วจะขอเลื่อนคดีอีกได้ก็ต่อเมื่อเข้าข้อยกเว้น คือมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ จำเลยเคยขอเลื่อนคดีมาแล้วด้วยเหตุพยานจำเลยติดธุระมาศาลไม่ได้ และในนัดก่อนศาลได้กำชับว่าหากจำเลยขอเลื่อนคดีเพราะเหตุเกี่ยวกับพยานจำเลยอีกจะถือว่าจำเลยประวิงคดี แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกครั้งนี้อ้างว่าทนายจำเลยติดธุระสำคัญมาศาลไม่ได้ โดยไม่ปรากฏว่าติดธุระอะไรและสำคัญเร่งด่วนอย่างไร พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงว่าจำเลยประวิงคดี ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีอีกจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3642

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3642/2533

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 1367 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

คำฟ้องของโจทก์นอกจากจะบรรยายว่า โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยการครอบครองแล้ว ยังบรรยายฟ้องด้วยว่า ตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ บ. มีข้อตกลงว่า เมื่อโจทก์ชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้ว บ. จะไปจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์และมีคำขอท้ายฟ้องว่า ให้จำเลยทั้งหกในฐานะทายาทของ บ. ร่วมกันไปจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นให้แก่โจทก์อีกด้วย ดังนี้ แม้คดีจะฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า โจทก์ชำระราคาที่ดินตามสัญญาให้ บ. ครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับ บ. เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย และพิพากษาให้จำเลยทั้งหกซึ่งเป็นทายาทของ บ. โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวได้ ไม่เป็นการพิพากษานอกฟ้อง

« »
ติดต่อเราทาง LINE